วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2553

หมากรุกไทย

หมากรุกไทย
อ.วาสนา ร่มโพธิ์ วิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา

“วัฒนธรรมไทยและประเพณีไทยถือเป็นสมบัติล้ำค่าควรศึกษาและอนุรักษ์ไว้ เพื่อเยาวชนรุ่นหลังได้สืบทอดและเรียนรู้ไม่ให้สูญหายไป”
สวัสดีค่ะทุกท่านวันนี้เรามาพูดคุยกันเรื่องหมากรุกไทย เกมการแข่งขันที่พัฒนาสมอง ความคิด รู้จักการวางแผน เมื่อสามารถเล่นได้แล้วจะเพลินยิ่งกว่าเล่นเกมในคอมพิวเตอร์เสียด้วยซ้ำ แต่เอ.... เมื่อกล่าวถึงหมากรุกไทยแล้ว บางท่านยังไม่รู้จักเลยว่ามีความเป็นมาและวิธีการแล่นอย่างไร วันนี้ผู้เขียนขอเล่าสู่กันฟังเล็กๆ น้อยๆ ค่ะ หากใครสนใจก็หาซื้อหมากรุกสักชุดและหาคู่เล่นกัน จะรู้ว่าหมากรุกไทย มีเสน่ห์ที่น่าหลงใหลจริงๆ
การเล่นหมากรุกปรากฎว่าในประเทศอินเดียมาช้านาน พวกชาวอินเดียอ้างว่าหมากรุกเกิดขึ้น เมื่อครั้งพระรามไปล้อมเมืองลังกา นางมณโฑเห็นทศกัณฐ์เดือดร้อนรำคาญใจ ในการที่ต้องเป็นกังวลคิดต่อสู้สงคราม ไม่มีเวลาเป็นผาสุข นางมณโฑรู้ว่าหากชักชวนทศกัณฐ์ให้พักผ่อนด้วยประการอย่างอื่น ก็คงไม่ยอม จึงเอากระบวนการสงคราม คิดทำเป็นหมากรุกขึ้น ให้ทศกัณฐ์เล่นแก้รำคาญ จึงเป็นมูลเหตุให้เกิดมีหมากรุกขึ้น
บางตำราบอกเล่าว่า หมากรุก ปู่ ย่า ตา ยายของเราเรียกหมากรุกว่า “จตุรงค์” เพราะเอากระบวนพล ๔ เหล่าเป็นตัวหมากรุก คือหัสดีพลช้าง (ได้แก่โคน) อัศวพล (ม้า) โรกะ(พลเรือ) ปาทิกะ (พลราบได้แก่เบี้ย) มีราชา (คือขุน) เป็นจอมพล ตั้งเล่นกันบนแผ่นกระดานอันเป็นตาราง 64 ช่อง (อย่างกระดานหมากรุกทุกวันนี้)
วิธีเล่นหมากรุกชั้นเดิมที่เรียกว่าจตุรงค์นั้น ไม่เหมือนอย่างที่เล่นกันในปัจจุบัน มีอธิบายอยู่ในหนังสือมหาภารตะ ว่าตัวหมากรุกเป็น ๔ ชุด ย้อมสีต่างกัน สีแดง สีเขียว สีเหลือง สีดำ
ตัวหมากรุกมีขุน โคน ม้า เรือ เบี้ย สมมุติว่าเป็นกองทัพของประเทศ ตั้งตัวหมากรุกในกระดานดังนี้:-

ชุดทางขวามือสมมุติว่าอยู่ประเทศทางทิศตะวันออก ชุดข้างล่างว่าอยู่ประเทศทิศใต้ ชุดข้างล่างว่าอยู่ประเทศทิศใต้ พวกทางซ้ายมือว่าอยู่ประเทศทิศตะวันตก ชุดข้างบนว่าอยู่ประเทศทิศเหนือ คนเล่นก็ ๔ คน ต่างถือหมากรุกคนละชุด แต่กระบวนการเล่นนั้นเล่นทแยงมุมกัน ซึ่งเป็นสัมพันธมิตรกันกับอีกฝ่ายหนึ่ง
ลักษณะเดินตัวจตุรงค์นั้น ขุน ม้า เบี้ย เดินอย่างเดียวกับหมากรุกที่เราเล่นกัน แต่ช้างเดินอย่างเราเดินเรือทุกวันนี้ ส่วนเรือนั้นเดินทแยง (อย่างเม็ด) แต่ให้ข้ามตา การที่จะเดินต้องใช้ทอดลูกบาตร ลูกบาตรนั้นทำเป็นสี่เหลี่ยมแท่งยาว ๆ มี 4 ด้าน มี 2 แต้มด้านหนึ่ง 3แต้มด้านหนึ่ง 4 แต้มด้านหนึ่ง 5 แต้มด้านหนึ่ง คนเล่นทอดลูกบาตรเวียนกันไป ถ้าทอดได้แต้ม 5 บังคับให้เดินขุนหรือเดินเบี้ย ถ้าทอดได้แต้ม4 ต้องเดินช้าง แต้ม3 ต้องเดินม้า แต้ม 2 ต้องเดินเรือแต่จะเดินไปทางไหนก็ตามใจเว้นแต่เบี้ยนั้นไปได้แต่ข้างหน้าทางเดียว



อุปกรณ์ในการเล่นหมากรุกไทยในปัจจุบัน ประกอบด้วย

1. กระดานหมากรุก เป็นกระดานสี่เหลี่ยม มีตารางสี่เหลี่ยมจัตุรัสด้านละ 8 ช่อง มีตาบนกระดานหมากรุกไทย 64 ตา ซึ่งเป็นตาเรียบธรรมดา(ไม่มีสลับสีดังเช่นกระดานหมากฮอส ) ขอบกระดานสองข้าง จะมีที่สำหรับให้เป็นที่เก็บตัวหมากรุกที่กินกันแล้ว ต้องนำออกมาวางนอกกระดาน

2. ตัวหมากรุก มีรวม 32 ตัว แต่ละฝ่ายจะมี 16 ตัว ตัวหมากรุกจะทำเป็นสองสีให้เห็นแตกต่างกันเช่น ดำกับขาว แดงกับดำ ฯลฯ แต่ก่อนตัวหมากรุกจะทำด้วยไม้เนื้อแข็ง แกะสลักเป็นรูปต่างๆ อาจใช้เขาสัตว์หรืองาช้างมาแกะสลักเป็นตัวหมากรุก ปัจจุบันส่วนใหญ่หล่อจากพลาสติก รายละเอียดของตัวหมากรุกแต่ละฝ่ายมีดังนี้
ขุน 1 เม็ด 1 โคน 2 ม้า 2 เรือ 2 เบี้ย 8 รวมมีฝ่ายละ 16 ตัว ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจะนั่งเผชิญหน้ากัน มีกระดานหมากรุกวางอยู่ตรงกลางการตั้งตัวหมากรุกและรูปร่างของตัวหมากรุก แสดงไว้ในภาพ มีข้อสังเกตคือ เม็ดต้องตั้งอยู่เบื้องขวาของขุนแต่ละฝ่าย


เมื่อเริ่มเล่น จะมีการเสี่ยงทายว่าใครจะได้เป็นผู้เดินก่อน หลังจากนั้นก็จะสลับกันเดินคนละที การเดินของหมากรุกแต่ละตัว ในรูปจะแสดงให้เห็นอำนาจการเดิน และการกินของหมากรุกแต่ละตัว ตามปกติหมากรุกเมื่อเดินไปตาไหนได้ ก็จะกินหมากของอีกฝ่ายหนึ่งในตานั้นได้ด้วย มียกเว้น คือ เบี้ยคว่ำ เวลาเดินจะเดินตรงๆไปข้างหน้าได้ทีละหนึ่งตา แต่ถ้าจะกินต้องกินตัวหมากที่อยู่ในตาทะแยงด้านหน้า ซ้ายหรือขวา เท่านั้น จะเดินถอยหลังไม่ได้ และจะกินทะแยงถอยหลังก็ไม่ได้










รุก หมายความว่า ฝ่ายหนึ่งเดินหมากตัวใดตัวหนึ่ง ยกเว้นขุน เดินเข้าไปถึงตาที่ขุนของฝ่ายตรงข้าม อยู่ในเขตอำนาจของหมากตัวนั้น หรือหมากตัวที่มารุก จะมากินขุนนั่นเอง ขุนฝ่ายที่ถูกรุก จะต้องแก้ไขด้วยการหนีไปจากตาที่ถูกรุกนั้น หรือกินหมากตัวที่มารุก หรือในกรณีเรือ อาจหาหมากตัวอื่นมาปิดทางเรือ เป็นต้น ถ้าไม่มีตาหนี และไม่สามารถแก้ไขให้การรุกยุติได้ ถือเป็นแพ้ เรียกว่า จน ขุนจะรุกขุนด้วยกันเองไม่ได้

รุกฆาต มักใช้กับม้า เมื่อเดินม้าไปรุกขุนฝ่ายตรงกันข้าม ขณะที่รุกขุนอยู่นั้น มีหมากตัวอื่นที่อาจจะถูกม้ากินได้อีกด้วย กรณีทั้งรุกและอาจกินตัวอื่นได้นี้เรียกว่า ม้ารุกฆาต เช่น อาจจะรุกฆาตกินโคน หรือรุกฆาตกินเรือ เป็นต้น รุกฆาตอาจใช้กับหมากตัวอื่นนอกจากม้าได้ด้วย ผู้เล่นหมากรุกฝีมือดี จะสังเกตอยู่เสมอว่าขุนกับหมากตัวอื่นของตน โดยเฉพาะเรือจะอยู่ในตาที่เข้าเกณฑ์ถูกม้ารุกฆาตได้หรือไม่ ผู้ที่เดินม้าเก่ง จะสามารถเดินม้าให้รุกฆาตกินเปล่าหมากของฝ่ายตรงข้ามได้บ่อยๆ
แหม... พอหอมปาก หอมคอกันเล็กน้อย ใครต้องการศึกษาและเรียนรู้ ถามๆ คุณตา คุณลุง แถวๆ บ้านเรา ยังคงเล่นกันได้อยู่ หรือหาซื้อหนังสือมาอ่านและฝึกเล่นๆไปนะคะ แต่เวลาเดินหมาก ก็ดูตาม้า ตาเรือ กันบ้าง จะจนมุมให้แพ้คู่ต่อสู้ได้ และหากหาใครสอนไม่ได้จริงๆ สามารถปรึกษา ชมรมหมากรุกไทย วิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมาได้ ยินดีร่วมสืบสานหมากรุกไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทยต่อไป แล้วพบกันใหม่...สวัสดีค่ะ