วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เพลงขึ้นหิ้ง แต่งโดย อ.วิเทพ กันธิมา (ประกอบการแสดงชุดฟ้อนจุมสหลี ยินดีตวย)


เพลงขึ้นหิ้ง ประพันธ์โดย อ.วิเทพ กันธิมา

เพลงขึ้นหิ้ง ประพันธ์โดย อ.วิเทพ กันธิมา แต่งให้นางสาววาสนา ร่มโพธิ์ เพื่อเป็นผลงานศิลปนิพนธ์ ด้านดนตรีนาฏศิลป์ คณะนาฏดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ปีการศึกษา 2539 โดยนักศึกษาได้คิดประดิษฐ์ท่ารำอันอ่อนช้อยขึ้นและนำเพลงขึ้นหิ้งประกอบการแสดง ในชุด “จุมสหลี ยินดีโดย”ซึ่งการประพันธ์เพลงได้แนวคิดจากการเคารพบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เคารพนับถือ อย่างสูงสุด การรวมตัวกันเพื่อความเป็นสิริมงคล



เพลงขึ้นหิ้ง

ประพันธ์โดย อ.วิเทพ กันธิมา

รัว.......

- - - ซ     - - - ซ      - - - ด      - - - ซ      - - - ด      -ลดฟ      -ซ-ล       ซลฟซ



สองชั้น

- - - -       - - - ซ       - - - ซ       - - - ด        - - - ซ       - ลซฟ       -ร-ด      - ฟลซ

- - - ซ      - - - ซ      - - - ซ       - ลซฟ          -ซ-ร        -ซ-ฟ        -ดฟร        ดท-ด

- - - ด      - - - ซ       - - - ท        -ซทด         -ท-ร         -ท-ด         -ท-ด       รดทด

- - - ซ       ทซทด      -ลดล        -ซฟซ         - - - ซ      ทซทด      -ลดล       ซฟ-ซ



ชั้นเดียว

- - - ร        - ดรฟ        -ร-ด         ทล-ซ          - - - ร       - ดรฟ         -ร-ด        ทล-ซ

- - - ร         - ร ร ร       ดรฟซ      ฟรฟด         -ททท         ดร-ด        -ท-ร        ดทลซ

- - - ฟ        -ล-ฟ         -ลซฟ       ซล-ซ         - - - ฟ       -ล-ฟ        -ลซฟ       ซล-ซ

-ร-ด           รท-ด         ลด-ล       ซฟ-ซ          -ร-ด         รท-ด        -ลดล        ซฟ-ซ



วันเสาร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2554

พิธีไหว้ครูดนตรีไทย

พิธีไหว้ครูดนตรีไทย
อ.วาสนา ร่มโพธิ์ วิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา

                                                                                     พิธีไหว้ครูดนตรีไทยเป็นพิธีไหว้ครูที่เหล่าบรรดานักดนตรีไทยจำเป็นต้องผ่านกระบวนการไหว้ครูตามขั้นตอน เพื่อให้เกิดศิริมงคลและเป็นการอำนวยอวยพรให้แก่ลูกศิษย์ที่ใช้วิชาชีพดนตรีเลี้ยงตนเองและครอบครัว ประกอบกับเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ ดังนั้นผู้เขียนจึงขอลำดับขั้นตอนต่างๆ ในพิธีไหว้ครูดนตรีบางส่วน เพื่อเป็นความรู้และเป็นการถ่ายทอดประเพณีอันดีงามให้คงอยู่สืบไป
พิธีการครอบจับมือต่อเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ




เพลงหน้าพาทย์ใช้บรรเลงในโอกาสสำคัญ 3 ประการคือ
1. เพลงหน้าพาทย์ที่ใช้บรรเลงประกอบพิธีกรรมไหว้ครูนาฏศิลป์และดนตรีไทย
2. เพลงหน้าพาทย์ที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดง - มหรสพ ต่างๆ
3. เพลงหน้าพาทย์ที่ใช้บรรเลงประกอบพระราชพิธี
เพลงหน้าพาทย์ทั้ง 3 ประเภทนี้ โบราณได้จัดแบ่งลำดับความสำคัญไว้ 3 ระดับ คือ หน้าพาทย์ชั้นต้น หน้าพาทย์ชั้นกลาง และหน้าพาทย์ชั้นสูง พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเรียนในหลักสูตรดนตรีไทย ได้กำหนดกรอบในการต่อเพลงหน้าพาทย์และพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเรียน โดยแบ่งตามระดับชั้น และมีการครอบเพื่อเรียนเพลงหน้าพาทย์ 5 ขั้น คือ

1. ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ครอบขั้นที่ 1 จับมือต่อเพลงสาธุการ
2. ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ครอบขั้นที่ 2 จับมือต่อเพลงตระโหมโรง
3. ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ครอบขั้นที่ 3 จับมือต่อเพลงตระบองกัน
4. ระดับชั้นปริญญาตรีปีที่ 1 ครอบขั้นที่ 4 จับมือต่อเพลงบาทสกุณี
5. การครอบขั้นที่ 5 เป็นการจับมือต่อเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ได้มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะครอบต่อเพลง คือ ได้ผ่านการศึกษาเพลงหน้าพาทย์มาครบทั้ง 4 ขั้นแล้ว เป็นผู้มีวัยวุฒิ ผ่านการบวชเรียนมาแล้ว 1 พรรษา เข้ารับศีลฟังพระสวดมนต์เย็น แต่งกายชุดสีขาว ก่อนการครอบจับมือต่อเพลงต้องมีพิธีกรรมตั้งเครื่องสังเวย และหลังจากการครอบจับมือต่อเพลง ต้องมาต่อเพลงในโบสถ์ ดังนั้นการครอบต่อเพลงในขั้นนี้จึงเป็นการครอบหลังจากจบการศึกษาในหลักสูตรของวิทยาลัยนาฏศิลปหรือเป็นครูอาจารย์แล้ว และพิธีกรรมสุดท้ายคือเป็นประธานอ่านโองการไหว้ครูดนตรีไทย
ที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าการเรียนเพลงหน้าพาทย์ในระบบนั้นได้ดำเนินการตั้งแต่ขั้นที่ 1 ถึงขั้นที่ 4 เท่านั้น สำหรับการครอบเพื่อจะขอต่อเพลงในขั้นที่ 5 คือเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ มิได้อยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอน แต่เป็นภาระและหน้าที่ของกรมศิลปากร ในการที่จะต้องดำเนินการอนุรักษ์ เผยแพร่ สืบทอด และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม คัดเลือกบุคลากรในสายวิชาชีพเข้ารับการครอบต่อเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ เพื่อที่จะได้บุคลากรเป็นครูโดยสมบูรณ์และเป็นศิลปินที่มีความรู้ความสามารถตามกระบวนการดนตรีไทย


เพลงหน้าพาทย์ พระพิราพเต็มองค์ หรือเพลงองค์พระพิราพ
เพลงองค์พระพิราพ เป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูง และมีความสำคัญที่สุด ในวงการนาฏศิลป์ไทย และดุริยางค์ไทย ให้ความศรัทธา เคารพนับถือเป็นอย่างมากและเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เป็นสัญลักษณ์ในการเสด็จมาของเทพอสูรที่มีฤทธานุภาพ อันมีนามว่า “พระพิราพ” ซึ่งเป็นเทพอสูรที่สามารถดลบันดาลให้ผู้ที่เคารพบูชา พบกับความสุข เนื่องจากความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ การบรรเลงหรือการออกแสดงท่ารำหน้าพาทย์เพลงนี้จึงต้องกระทำด้วยจิตอันศรัทธา เพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพนั้น ถือว่าเป็นเพลงอัญเชิญเทพเจ้า ซึ่งเชื่อว่า พระพิราพ เป็นปางหนึ่งของพระอิศวร และด้วยความชาญฉลาดแห่งภูมิปัญญาของโบราณจารย์ ได้ผนวกความเชื่อพระพิราพ ในรูป “เทพเจ้า” และ “ตัวโขน” เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยนำเพลงหน้าพาทย์เฉพาะองค์พระพิราพในฐานะเทพเจ้า ซึ่งไม่มีโอกาสนำไปใช้กับการแสดงอื่น นำเข้ามาบรรจุในการแสดงโขน ตอนพระรามเข้าสวนพิราพ
การถ่ายทอดท่ารำจะมีลักษณะการถ่ายทอดที่มีระเบียบเคร่งครัดคือ ผู้ที่จะรำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพได้ ต้องได้รับพระบรมราชโองการ หรือพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือมิเช่นนั้นก็ต้องเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมาย จากผู้ที่เคยได้รับพระบรมราชโองการ หรือพระบรมราชานุญาตโดยตรง และการถ่ายทอดท่ารำต้องใช้สถานที่เหมาะสม เพราะท่ารำนั้นเป็นท่ารำของมหาเทพ คือพระอิศวร ซึ่งมีฤทธานุภาพมาก ดังนั้นจึงต้องเป็น วัง หรือวัด เท่านั้น “ห้ามถ่ายทอดท่ารำในบ้านเป็นอันขาดเนื่องจากบ้านเป็นที่อยู่อาศัยของสามัญชน”

สถานที่ประกอบพิธีไหว้ครู/ศีรษะครู
สถานที่ประกอบพิธีไหว้ครู ควรจะมีบริเวณกว้างขวางมาก ๆ ให้พอที่บรรดา ศิษยานุศิษย์และผู้ที่จะมาร่วมพิธีได้นั่งพอสบายเนื่องจากพิธีไหว้ครูนั้น ใช้เวลาในการประกอบพิธีนานพอสมควร
การจัดสถานที่สำหรับตั้งศีรษะครูและเครื่องดนตรีไทย เครื่องดนตรีสากล รวมถึงเครื่องดนตรีพื้นบ้านต่างๆ ต้องจัดยกแท่นสูง ทำแท่นลดหลั่นให้ถูกต้องระดับชั้นสูง ต่ำ ของศีรษะเทพเจ้าที่เราจะอัญเชิญมาตั้งในการประกอบพิธีไหว้ครู ควรจะมีครบถ้วนตามที่มีอยู่ในคำอ่านโองการไหว้ครูเป็นอย่างน้อย สำหรับการไหว้ครูนาฏศิลป์ – ดนตรีไทย มีการเชิญมาตั้ง คือ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระวิสสุกรรม พระปัญจสิขร พระปรคนธรรพ พระฤาษี พระคเณศร์ พระพิราพ

ประโยชน์ของการไหว้ครู
การที่ได้ประกอบพิธีไหว้ครูตามประเพณีที่ถูกต้อง ย่อมบังเกิดประโยชน์ได้หลายประการ คือ
1. ได้รักษาประเพณีอันเป็นวัฒนธรรมอันดีของไทยไว้ให้ยืนยงต่อไป
2. ได้แสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีอันเป็นเครื่องหมายของคนดีเป็นแบบอย่างส่งเสริมให้ศิษย์รุ่นต่อ ๆ ไป รู้สึกกตัญญูกตเวทีต่อครูบาอาจารย์เป็นการบำรุงขวัญของผู้ที่ได้ร่วมในพิธีไหว้ครูและครอบครู เพราะว่าได้กระทำพิธีต่าง ๆ ครบถ้วนตามแบบแผนแล้ว เวลาที่จะปฏิบัติก็จะมีจิตใจมั่นคง และมีขวัญดี
3. เป็นการเสริมความสามัคคีระหว่างศิลปินด้วยกัน เพราะในการประกอบพิธี ไหว้ครูนั้น บรรดานักดนตรี – นักแสดงทั้งหลาย แม้จะอยู่คนละคณะก็มักจะมาร่วมในพิธีไหว้ครูด้วยกัน ได้พบปะสังสรรค์กันเป็นอันดี เป็นการเชื่อม ความสามัคคีในหมู่ดุริยางค์ – นาฏศิลป์ด้วยกันให้แน่นแฟ้น

ขันไหว้ครู
ขันไหว้ครู คือ สิ่งที่ “ศิษย์” นำไป กำนัล แด่ “ครู” หรือที่เรียกกันว่า กำนลครู เพื่อเป็นเครื่องแสดงความเคารพบูชาครูที่ท่านยอมรับเป็นศิษย์ พิธีการนี้กระทำหลังจาก “ผู้ประกอบพิธี” ได้อ่านโองการฯอัญเชิญเทพยดามายังพิธีเพื่อรับเครื่องกระยาบวด สังเวย รับการขอขมากรรมและขอให้ท่านอำนวยพรแก่ศิษย์ใหม่ในครั้งนั้น ในขันไหว้ครู มีสิ่งของ 5 อย่าง และถ้านับ “ขัน” รวมด้วยก็เป็น 6 อย่าง คือ
1. ขัน ที่ใช้ใส่สิ่งของกำนลครู เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เปรียบเหมือนว่าถ้าครูใช้ขันล้างหน้า ศิษย์ก็ได้รับการชำระสิ่งสกปรกต่าง ๆของตนออกไป และสิ่งของที่นำมาพร้อมกับขัน คือ
2. ดอกไม้ ใช้บูชาครู แสดงถึงความอ่อนน้อมยอมตัวเป็นศิษย์ นิยมใช้หญ้าแพรก ดอกมะเขือ ซึ่งมีความหมายให้มีสติปัญญาแตกฉาน เรียนรู้ได้ดี เช่นเดียวกับดอกไม้นั้น
3. ธูป ที่ใช้จุดบูชาพระรัตนตรัย 3 ดอก หมายถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ธูปในที่นี้ หมายถึง สมาธิ ความอดทน พากเพียรพยายาม ในการฝึกดนตรีและนาฏศิลป์
4. เทียน ที่ใช้จุดบูชาพระ หมายถึง “ปัญญา” ซึ่งเปรียบเหมือนแสงสว่างของเทียนที่นำสู่ความสว่างไสวของการศึกษาเล่าเรียน ที่ต้องการให้สำเร็จตามจุดมุ่งหมายที่ต้องการ
5. ผ้าขาว หมายถึง “ศีล” ที่บริสุทธิ์ เป็นความบริสุทธิ์ใจของศิษย์ที่ประสงค์จะขอเรียนรู้วิชาการจากครู “ผ้าขาว” ถือว่าเป็นสิ่งมีค่าหายากใช้ประโยชน์ได้สารพัด
6. เงินกำนล หมายถึง “ความกตัญญู” ที่ศิษย์ตอบแทนครู มิใช่ค่าตอบแทน แต่ถือว่าการถ่ายทอดวิชาการทางด้านศิลปะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าเป็นมรดกที่ครูมอบให้ด้วยความรัก ความเมตตา
การเจิมหน้า
ในพิธีไหว้ครูผู้ประกอบพิธีท่านจะเลือกสรรนิ้วที่มีความหมายในการให้คุณด้านความดีความงาม คือ นิ้วนาง แต่นิ้วนางเป็นนิ้วที่มีกำลังน้อย ท่านจึงเลือกนิ้วหัวแม่มือซึ่งเป็นนิ้วที่ให้คุณอย่างดีเลิศเข้าประกบกับนิ้วนางแตะแป้งสำหรับเจิมหน้าแก่บรรดาศิษยานุศิษย์ซึ่งทำให้ความหมายเมื่อรวมกันแล้วคือมีความดีงามอย่างยอดยิ่ง

หากท่านใดสนใจที่จะเข้าร่วมพิธีไหว้ครูดนตรีและนาฏศิลป์ไทย ที่เป็นระเบียบแบบแผนอย่างโบราณที่สืบทอดต่อกันมา สามารถสอบถามรายละเอียดการเข้าร่วมพิธีได้ช่วงประมาณต้นเดือนมิถุนายน ของทุกปี หรือโทรศัพท์สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.044-465152 วิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา แล้วพบกันในครั้งต่อไป สวัสดีค่ะ


วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2554

นกเขาคารมโคราช



นกเขาคารมโคราช
บทความ  โดย อ.วาสนา  ร่มโพธิ์ 
 วิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา

"นกเขาคารม" เป็นสัตว์นำโชค เนื่องจากเห็นว่า นกเขาคารม เป็นสัตว์ประจำท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงของเมืองโคราช ประกอบกับ นกเขาคารม เคยเป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญประจำ จ.นครราชสีมา ที่กล่าวไว้ว่า
"นกเขาคารม อ้อยคันร่ม ส้มขี้ม้า ผ้าหางกระรอก แมวสีสวาด ประสาทหิน ดินด่านเกวียน
และที่ผ่านมา อาเซียนพาราเกมส์ที่ จ.นครราชสีมา พ.ศ. 2550 ที่ผ่านมาใช้ นกเขาคารม เป็นสัตว์นำโชค อีกด้วย
วันนี้เรามารู้จักนกเขาคารมโคราชกันดู ว่านกชนิดนี้จะมีความพิเศษอย่างไรบ้าง หากใครสนใจจะได้นำมาเลี้ยงเป็นสัตว์นำโชคของบ้านเอง
นกเขาคารม โคราช  คือ นกเขาใหญ่ ที่เปล่งเสียงร้องออกมา แต่ละพยางค์ไม่ซ้ำกับเสียงเดิม มีลูกเล่น สรรหาเสียงต่าง ๆ มาเรียงพยางค์ต่อกัน เป็นวรรคเป็นตอน ฟังเพลินได้อารมณ์และความรู้สึก คารมดี- ไม่ดี อยู่ที่การเรียงลำดับเสียงที่สลับกลับเปลี่ยนไป-มาและความชัดเจนของเสียง
วิธีการฟังเสียงนกเขาคารม โคราช  เมื่อมีการประชันขันแข่ง
ธรรมชาติของนกเขาใหญ่ จะมีขันอยู่ 3 อย่าง คือ
1. ขันโยน  เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่บริเวณเขตแดนของตน
1.1 นกเขาปกติ ขันโยน 4 พยางค์ ดังนี้ กุ๊ก-กรู-กรู-กุ๊ก แล้วขึ้นชุดใหม่ กุ๊ก-กรู-กรู-กุ๊ก จะขันกี่ชุดก็มี 4 พยางค์ ดังนี้
- นกสองกุ๊ก  มีเสียงกุ๊กเพิ่มอีก 1 ครั้ง ในพยางค์ที่ 4 รวมขันเป็น 5 พยางค์ ดังนี้ กุ๊ก-กรู-กรู-กุ๊ก-กุ๊ก แล้วขึ้นอีก 5 พยางค์ เหมือนเดิม
- นกสามกุ๊ก-สี่กุ๊ก ก็ทำนองเดียวกันคือ นับพยางค์ที่ 4 เป็นกุ๊กแรกโดยจะต่อกุ๊กอีกกี่ชุด ก็นับเอา-เรียกชื่อเท่านั้นกุ๊ก-2 กุ๊ก-3-4-5 กุ๊ก มีผู้นิยมเลี้ยงเป็นนก มงคลตอนขันโยนนี้ไม่มีคารม
- นกหลิ่ว ขันเพียง 3 พยางค์ ไม่มีเสียงกุ๊ก ในพยางค์ที่ 4 ดังนี้ กุ๊ก-กรุ-กรู , กุ๊ก-กรุ-กรู ขันโยนกี่ชุดก็เหมือนกัน (เรียกว่า หลิ่วตัน )   นกหลิ่วตัน นั้นมีความนิยมว่า เป็นนกมงคล ป้องกันภัยอันตรายจากการเจ็บไข้ต่าง ๆ คุ้มบ้านคุ้มเรือน จะไม่มีการฟังขันคารม
- นกหลิ่วแกมกุ๊ก จะมีการขันหลิ่วตันบ้าง ชุดอื่นอาจลงกุ๊ก ในพยางค์ที่ 4 บ้าง ไม่แน่นอน
1.2 ขันคู เป็นการขันเพื่อแสดงอำนาจ ขู่ ขับไล่ ท้าทาย ชวนทะเลาะ มี 2 พยางค์คือ จู้กรู-จู้กรู-จู้กรู  ตอนนี้จะไม่มีการฟังคารม
1.3 ขันเรียก เป็นตอนที่ฟังคารม นกขันเรียกตอนนี้จะระบายอารมณ์  แสดงความสามารถเฉพาะตัว จะมีเสียงแปลก พิสดาร มีหนักมีเบา แผ่ว กระชั้น เปลี่ยนเสียง สูง ต่ำ สั้น ยาว น่าฟังเป็นพิเศษ นกเขาคารม ฟังตอนขันเรียกนี้เท่านั้น
2. เสียงของนกเขาคารม
    2.1 เสียงหลัก เป็นเสียงบังคับ จะต้องมีในนกเขาคารม (ตอนขันเรียก) มี 3 เสียง เรียกว่า สามเส้า หรือ สามขัด คือ
เจ้าพุทธโธ          ถ้าขันอย่างชัดเจนดังปากว่าจะยิ่งดี         
เจ็กหัวโต            ถ้าขันอย่างชัดเจนดังปากว่าจะยิ่งดี         
โก้โก                   ถ้าขันอย่างชัดเจนดังปากว่าจะยิ่งดี            
อะไรขึ้นต้น ลงท้าย หรืออยู่กลางได้ทั้งนั้น
2.2 เสียงพิเศษไม่เป็นเสียงบังคับ   แต่ถ้ามีสลับไว้ ที่ใดที่หนึ่งของเสียงหลักทั้งสาม เสียงจะฟังแปลกดีจะได้รับการพิจารณา เกี่ยวกับคารมเกินกว่านกสามเส้าธรรมดา
                    2.2.1 โก้ โก โก้ เสียงนี้มีในนกตัวใดจะรับฟังได้อย่างชัดเจนมาก ต่างจากนกตัวอื่น
                    2.2.2 โก้ โก้ โก เสียงนี้ต้องใช้ความละเอียดเพราะอาจปะปนกับเสียงหลักเจ้าพุทโธ
2.2.3 โก้ ห๊ก โก เสียงนี้ต้องใช้ความละเอียดเพราะอาจปะปนกับเสียงหลักเจ็กหัวโต
2.2.4  โต้น โต  เสียงนี้ต้องใช้ความละเอียดเพราะอาจปะปนกับเสียงหลักโก้ โก
2.2.5  ทองเกิดเอย ส่วนมากจะมีอยู่ในชุดแรกของการขันเรียก ซึ่งมีอยู่น้อยตัว เป็นนกมงคล
 3. เสียงคารม
  คือ เสียงที่เปล่งออกมาโดยใช้เสียงหลัก 1. เจ้าพุทโธ    2. เจ็กหัวโต    3. โก้ โก   สลับพยางค์กัน สลับ
เปลี่ยนกัน ให้ครบทั้ง 3 เสียง ไม่หนัก(มาก) ทางเสียงใดเสียงหนึ่งในเวลาที่กำหนด เมื่อให้เสียง พุทโธ ไป 30 คำ เสียงเจ็กหัวโต และโก้ โก ก็ควรมี 30 คำหรือใกล้เคียงกับ 30 คำด้วย  แล้วนำเสียงพิเศษมาสลับไว้บางที่ บางพยางค์ ก็จะทำให้ไพเราะ น่าฟังยิ่งขึ้น
ความนิยม ไม่นิยมซ้ำเสียงหลักเกิน 2 ครั้ง เช่น เมื่อมีเสียง เจ้าพุทโธ ไปแล้ว จะมีเสียง เจ้าพุทโธ ซ้ำมาอีกอนุโลมได้อีก1  ครั้ง แต่ถ้าเกินนั้นจะฟังเบื่อหู
ตัวอย่างเสียงคารม
1. แบบไม่ซ้ำ
            เจ้าพุทโธ   โก้โก   เจ็กหัวโต   โก้โก เจ้าพุทโธ  เจ็กหัวโต เจ้าพุทโธ โก้โก  เจ็กหัวโต
  เจ้าพุทโธ  เจ็กหัวโต โก้โก เจ้าพุทโธ  โก้โก  เจ้าพุทโธ  โก้โก  เจ็กหัวโต  โก้โก
2. แบบโก้ โก ซ้อน
โก้โก   เจ้าพุทโธ  เจ็กหัวโต   (โก้ โก + โก้โก ) เจ้าพุทโธ (โก้โก + โก้โก) เจ็กหัวโต
โก้โก   เจ้าพุทโธ  เจ็กหัวโต   (โก้ โก + โก้โก ) เจ้าพุทโธ (โก้โก + โก้โก) เจ็กหัวโต
3. แบบพุทโธ ซ้อน
เจ้าพุทโธ โก้โก  เจ็กหัวโต  โก้โก (เจ้าพุทโธ + เจ้าพุทโธ) เจ็กหัวโต เจ้าพุทโธ
เจ็กหัวโต  โก้โก เจ้าพุทโธ โก้โก เจ้าพุทโธ  โก้โก (เจ้าพุทโธ + เจ้าพุทโธ) เจ็กหัวโต
4. แบบเจ็กหัวโต ซ้อน
เจ้าพุทโธ  โก้โก เจ็กหัวโต โก้โก (เจ๊กหัวโต + เจ็กหัวโต) โก้โก พุทโธ โก้โก
(เจ๊กหัวโต + เจ็ก) เจ้าพุทโธ โก้โก เจ้าพุทโธ (เจ๊กหัวโต + เจ็กหัวโต) เจ้าพุทโธ
5. แบบมีเสียงพิเศษสลับ
เจ้าพุทโธ  โก้โก   เจ็กหัวโต  โก้โก้โก   เจ๊กหัวโต  เจ้าพุทโธ  โก้โก  โก้โกโก้
เจ้าพุทโธ   เจ็กหัวโต  โก้ ห๊กโก  เจ้าพุทโธ  โก้โก  เจ้าพุทโธ  โก้โก  เจ็กหัวโต โก้โก
สรุปว่าการฟังเสียงของนกเขาเมื่อเวลาขันเรียกต้องพยามฟังอย่างละเอียดคือ
1.ซ้อนได้ทุกเสียง เสียงหลัก และเสียงพิเศษไม่เกิน 2 คำ
2. เสียงพิเศษที่ไม่นิยม คือ เสียงติดอ่าง เสียงไม่ชัดเจน เสียงที่ทำให้เสียจังหวะ ทำให้เสียวรรค ตอน หรือ ฟังไม่ออกว่าเสียงอะไร
6. ขันทน
 เมื่อขันเรียกแล้วต้องขันต่อเนื่อง ไม่หยุด ไม่ทิ้งช่วงวรรคนาน ขาดจังหวะ ไม่ปะติดปะต่อ ไม่ตื่น ดิ้นรน กลัว
7.น้ำเสียง
คือ คุณภาพของเสียง มีความกังวาน ก้อง ชัดเจน ได้จังหวะ ไพเราะนุ่มนวล ได้อารมณ์ ไม่ห้วน กระโชก ตะโกนกู่ ไม่แหบแห้ง ไม่พร่า สั่นเครือ ไม่ติดอ่าง เสียจังหวะ  กระแสเสียงมีเสน่ห์ชวนฟัง
8.ลูกเล่น
ออเซาะ ฉอเลาะ หยิกหยอก ปลอบโยน งอนง้อ  ตัดพ้อ หยิ่งทะนง ประชดประชัน นกที่มีอันดับจะให้เสียง สูง ต่ำ หนัก เบา แผ่ว กระซิบ ได้อารมณ์ดี หูของหมอนกฟังรู้ ถือว่าเป็นลูกเล่นพิเศษ
เมื่อมีการประชันขันแข่งจะมีเกณฑ์สำหรับการพิจารณาดังนี้
1.คารม                 พิจารณาให้ความสำคัญ    70 %
2.เสียง                          พิจารณาให้ความสำคัญ    15 %
3.ขันทน              พิจารณาให้ความสำคัญ   15 %
บางครั้งการประกวดประชันอาจมีคะแนนในเรื่องของรูปร่าง  ลักษณะสีขน  ปาก  เล็บ  สร้อยคอ เข้ามาด้วย ซึ่งเป็นอีกลักษณะหนึ่งของความสวยงามของนกเขาคารม หากมีการประชันขันแข่ง  เกณฑ์การให้คะแนนนั้นอยู่ที่ประสบการณของผู้ตัดสินที่มีความแม่นยำในการฟังเสียงโดยสามารถแยกเสียงต่าง ๆ ได้ชัดเจน  เวลาประชันขันแข่งนั้น  นกที่เข้าประกวดที่ขันไม่ทน จะไม่มีคะแนน แต่นกที่เปล่งเสียงขันที่ทน เร่งขันเร็ว ชัดเจน เป็นจังหวะ ก็จะได้คะแนนมาก
จากอดีตที่ผ่านมาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมาได้จัดประกวดนกเขาคารม ในงาน ย้อนยุคโคราช ด๊ะดาดของดีเมื่อวันที่ 10 -12 ธันวาคม 2542 ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา มีผู้เข้าร่วมประกวดนกเขาคารมเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงความอนุรักษ์และการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นในเรื่องของสัตว์พื้นบ้านได้เป็นอย่างดี  ดังนั้นหากผู้ที่ยังไม่มีความรู้ความสามารถในการแยกแยะเสียงของนกเขาคารมของคนโคราชตามชี้แจงอย่างชัดเจนมาแล้วข้างต้น  ลองหานกเขาคารมเสียงดี ๆ มาเลี้ยงสักตัว สองตัวก็เพลิดเพลินดี  เพราะปัจจุบันมีหมอนกที่คอยสรรหาและจับนกเขาใหญ่มาเลี้ยง  โดยวิธีการต่อนก ซึ่งจากการสัมภาษณ์ คุณพ่อประจวบ สว่างพลกรัง อายุ 74 ปี อยู่บ้านเลขที่ 632 หมู่ 4 ต. แชะ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา และคุณพ่อแสวง จอมเกษม อายุ 75 ปี อยู่บ้านเลขที่ 22 หมู่ 8 ต .แชะ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ทุกวันจะถือเพนียด (ที่จับนก) ถุงตะเคียว (สำหรับใส่นกที่จับได้) มีดขัด (สำหรับตัดแต่งกิ่งไม้และใช้สอย) เข้าป่าไปต่อนก ซึ่งคุณพ่อแสวงและคุณพ่อประจวบเล่าว่า การต่อนกเขานั้น ต้องมีนกต่อ ที่ได้คัดสรรแล้วว่าเป็นนกที่สามารถขันเรียกนกตัวอื่น ๆ ให้บินมาอยู่ใกล้ชิดและขันต่อล้อต่อเสียงกัน ซึ่งหมอนกทั้งสองท่านเล่าว่า  น่าตื่นเต้นมาก  เวลา ที่มีนกอื่นมาขันใกล้ ๆ แล้วลุ้นว่าเพนียดจะทำงานเมื่อใด ก็จะได้นกเขาที่มีเสียงดีมาเลี้ยงไว้  เมื่อได้นกเขาใหญ่ตามที่ต้องการแล้วจะนำมาเลี้ยงและฝึกขัน โดยมีนกที่เสียงดีอยู่ด้วยกันขันแข่งกันทุกวัน  นกที่จับได้หากมีเสียงดีและมีลักษณะพิเศษตามที่ต้องการตามความนิยมคุณพ่อก็จะขายต่อราคาประมาณ 50 บาทขึ้นไป แต่หากสนิทสนมกันก็ให้กันไปเลยโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ เพราะต้องการเพียงเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน มิได้เพื่อการค้าหรือธุรกิจที่นำพาความร่ำรวยมาสู่ตน  ก่อนจากกันคุณพ่อประจวบ  สว่างพลกรังได้ให้เกร็ดความรู้เล็ก ๆ มาฝากกันอีกด้วยในเรื่องของนกกระทาเมียรัก  (เป็นนกกระทาป่าไม่ใช่นกกระทาเลี้ยง) บางครั้งเมื่อไปต่อนกแล้วบางทีได้นกกระทามาจะไม่นิยมเลี้ยงหากนกมีคุณลักษณะที่ผิดโฉลก 4 ประการ คือ
1. ก้นลาย                                  2. สะพายขาด
3. ขัน 2 ตาด                              4. เดือยปักกะบาน
มีอย่างหนึ่งอย่างใดห้ามเลี้ยง  แต่ถ้ามีครบทั้ง 4 ประการจะเรียกว่า ปัดตลอด ถือว่าเป็นนกมงคล หายากใครเลี้ยงไว้ก็จะพาความเจริญรุ่งเรือง ความร่ำรวยและเป็นศิริมงคลแก่ผู้เลี้ยงเป็นอย่างยิ่ง
จากการสัมภาษณ์ ปราชญ์พื้นบ้าน  28/พ.ค./2551
คุณพ่อประจวบ สว่างพลกรัง อายุ 74 ปี อยู่บ้านเลขที่ 632 หมู่ 4 ต. แชะ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา
คุณพ่อแสวง จอมเกษม อายุ 75 ปี อยู่บ้านเลขที่ 22 หมู่ 8 ต .แชะ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา

วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2554

พระพิฆเนศวร

พระพิฆเนศวร
อ.วาสนา  ร่มโพธิ์ วิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา

...พวกอสูรและรากษสได้ทำการบวงสรวงพระศิวะจนได้รับพรหลายประการ จึงเกิดความฮึกเหิมก่อความเดือดร้อนไปทั่ว ร้อนถึงพระอินทร์ต้องนำเทวดาทั้งหลายไปเฝ้าพระศิวะ ขอให้พระองค์ทรงสร้างเทพแห่งความขัดข้องขึ้น พระศิวะจึงทรงแบ่งกายส่วนหนึ่งให้บังเกิดในครรภ์ของพระแม่อุมาออกมาเป็นบุรุษรูปงามนาม พิฆเนศวร มีหน้าที่ขัดขวางเหล่าอสูรคนชั่วมิให้ทำการบัดพลีขอพรจากพระศิวะ
มีเรื่องเล่าต่อมาว่าเมื่อพิฆเนศวร หรือพระคเณศมีอายุพอจะทำ พิธีโสกันต์ (โกนจุก) แล้ว พระศิวะก็ได้ให้เทวดาไปอัญเชิญพระนารายณ์หรือพระวิษณุที่บรรทมอยู่ ณ เกษียรสมุทรหรือทะเลน้ำนมมาร่วมพิธีด้วย ปรากฏว่าท่านกำลังหลับเพลินๆ พอถูกปลุกก็คงจะหงุดหงิด จึงพลั้งปากเปล่งวาจาว่า "ไอ้ลูกหัวหาย กวนใจจริง!!!!" ด้วยวาจาสิทธิ์เลยมีผลให้เศียรพระคเณศหลุดไปในทันใด !!!
พระศิวะจึงต้องมีเทวโองการให้เหล่าเทวดาไปหาหัวมนุษย์ที่เสียชีวิตมาต่อให้ แต่ปรากฏว่าวันนั้นกลับไม่มีใครตาย มีเพียงช้างที่นอนตายอยู่ทางทิศตะวันตกเท่านั้น เทวดาจึงต้องตัดหัวช้างมาต่อเศียรให้พระคเณศแทน ท่านเลยมีหัวเป็นช้างมาตั้งแต่บัดนั้น
 ส่วนสาเหตุที่พระคเณศมีเพียงงาเดียวนั้น เล่ากันว่าถูกขวานของปรศุรามขว้างใส่ ซึ่งปรศุรามนี้เป็นพราหมณ์อวตารภาคหนึ่งของพระนารายณ์ และได้รับประทานขวานเพชรจากพระศิวะ ทำให้มีฤทธิ์เดชมาก ได้ใช้เทพศัตราวุธนี้ไปล้างแค้นแทนบิดามารดา รวมถึงไปปราบปรามเหล่ากษัตริย์ทั้งหลายจนสิ้นโลก   กระนั้นก็ดีพระพระนารายณ์ก็ได้มีเทวประกาศิต แบ่งกำลังของปรศุรามมาให้พระคเณศครึ่งหนึ่ง เพื่อมิให้มีกำลังมากเกินไป และใช้ไปในทางที่ไม่ควรอีก นอกจากให้กำลังแล้วท่านยังประกาศให้พระคเณศมีพระนามว่า เอกทันตะ คือผู้มีงาเดียว และว่านามนี้จะเป็นเครื่องประกาศคุณงามความดีที่ทรงเป็นลูกกตัญญูต่อบิดา รู้จักรักษาเกียรติบิดา และยังให้นามว่า พิฆเนศวร ซึ่งหมายถึงผู้ที่สามารถกำจัดอุปสรรคได้นานาประการ
ด้วยพรที่พระวิษณุ หรือพระนารายณ์ประทานแก่พระคเณศนี้เอง ทำให้ผู้คนทั้งหลายต่างพากันบูชา เพื่อความสำเร็จแห่งตน และนอกจากพระนามข้างต้นแล้ว พระคเณศยังมีอีกหลายพระนาม ซึ่งล้วนเรียกตามลักษณะของพระองค์ทั้งสิ้น เช่น อาขุรถ หมายถึงผู้ทรงหนูเป็นพาหนะ สัพโพทร หมายถึงผู้มีท้องย้อย และ ลัมพกรรณ หมายถึงผู้มีใบหูที่ใหญ่ อีกทั้งพระคเณศยังได้ชื่อว่า เทพแห่งปัญญา
 พระพิฆเนศวร (ภาษาสันสกฤต : คเณศ) หรือ พระพิฆเนศ หรือ พระพิฆเณศ หรือ พระวิฆเณศวร หรือ คณปติ เป็นเทพในศาสนาพราหมณ์ ถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความรู้ เป็นผู้มีปัญญาเป็นเลิศ ปราดเปรื่องในศิลปวิทยาทุกแขนง (ผู้เป็นใหญ่เหนือความขัดข้อง)

ในประเทศไทยจะเห็นได้ว่ามีการบูชาเทพองค์ต่างๆในศาสนาพราหมณ์อยู่มากมาย ดูได้จากการพบรูปสลักพระพิฆเณศในเทวสถานตามจังหวัดต่างๆ ทั่วทั้งประเทศไทย   คนไทยถือว่าองค์พระพิฆเนศวรเป็นที่เคารพสักการะในฐานะองค์บรมครูแห่งศิลปวิทยาการ 18 ประการ โดยคนไทยยอมรับในองค์พระพิฆเนศวรให้เป็นเทพแห่งศิลปะทั้งมวล และเป็นเทพองค์สำคัญในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งทางศาสนาพราหมณ์ได้สถาปนาพระพิฆเนศวร เป็นเทพพระองค์แรกที่บูชาก่อนเริ่มพิธีใดๆ เป็นการคารวะในฐานะบรมครูผู้ประสาทปัญญาและความสำเร็จ สามารถขจัดอุปสรรคทั้งปวงให้หมดสิ้นไป กิจการทุกอย่างจึงสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี หน่วยงานราชการ กรมศิลปากร  สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์  วิทยาลัยนาฏศิลป วิทยาลัยช่างศิลป  มหาวิทยาลัยศิลปากร  อัญเชิญพระพิฆเนศวรเป็นสัญลักษณ์ของหน่วยงาน
เนื่องจากพระพิฆเนศวรมีพระวรกายที่ไม่เหมือนเทพอื่นๆ ได้มีการอธิบายถึงพระวรกายของพระองค์ท่านดังนี้
1. พระเศียรของท่านหมายถึงวิญญาณซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการมีชีวิต
2. พระวรกายแสดงถึงการที่เป็นมนุษย์ที่อยู่บนพื้นปฐพี
3. ศีรษะช้างแสดงถึงความเฉลียวฉลาด
4. เสียงดังที่เปล่งออกมาจากงวงหมายถึงคำว่า โอม ซึ่งเป็นเสียงแสดงถึงความเป็นสัจจะของสุริยจักรวาล
5. พระหัตถ์บนด้านขวาทรงเชือกบ่วงบาศน์ที่ทรงใช้ในการนำพามนุษย์ไปสู่เส้นทางแห่งธรรมะและหลุดพ้นพร้อมทรงขจัดอุปสรรคในระหว่างทาง
6. พระหัตถ์บนซ้ายทรงเชือกขอสับที่ใช้ในการป้องกันและพันฝ่าความยากลำบาก
7. มือขวาล่างทรงงาที่หักครึ่งซึ่งพระองค์ทรงใช้เป็นปากกาในการเขียนมหากาพย์มหาภารตะให้มหาฤษีเวทวยาสมุนีและเป็นสัญลักษณ์แห่งความเสียสละ
8. อีกมือทรงลูกประคำที่แสดงว่าการแสวงหาความรู้จะต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
9.ขนมโมณฑกะหรือขนมหวานลัดดูในงวงเป็นการชี้นำว่ามนุษย์จะต้องแสวงหาความ หวานชื่นในจิตวิญญาณของตนเองเพื่อที่จะได้มีจิตเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้กับคนอื่นๆ
10. หูที่กว้างใหญ่เหมือนใบพัดหมายความว่าท่านพร้อมที่รับฟังสิ่งที่เราร้องเรียนและเรียกหา
11. งูที่พันอยู่รอบท้องท่านแสดงถึงพลังที่มีอยู่โดยรอบ
12. หนูที่ทรงใช้เป็นพาหนะแสดงถึงความไม่ถือองค์และพร้อมที่จะเกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตที่เล็กและเป็นที่รังเกียจของมนุษย์ส่วนมาก

สำหรับคอลัมภ์นี้ ผู้เขียนได้อัญเชิญตำนานแห่งองค์พระคเณศ อันเป็นเกร็ดเล็กน้อยมาเล่าสู่กันฟังค่ะ แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้า  สวัสดีค่ะ


หนังประโมทัย มหรสพพื้นบ้านอีสาน




หนังประโมทัย มหรสพพื้นบ้านอีสาน

อ. วาสนา ร่มโพธิ์ วิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา

             สวัสดีค่ะ...ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน พบกันอีกครั้งกับศิลปะ บันเทิง ที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมไทย อันเป็นมรดกที่สำคัญของชาติ มีท่านผู้อ่านหลายท่านที่ให้การตอบรับกับเนื้อหาสาระในคอลัมภ์นี้อย่างเนืองแน่น ครูบางท่านนำไปเป็นเอกสารประกอบการสอนในชั้นเรียน ผู้เขียนจึงขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ ที่ได้มีโอกาสเผยแพร่ความรู้ไปสู่เยาวชนของชาติ

สำหรับวันนี้ผู้เขียนมีเรื่องราวเกี่ยวกับ หนังประโมทัย ซึ่งเป็นหนังตะลุงอีสาน มหรสพพื้นบ้านอีสานซึ่งปัจจุบันหาชมได้ยาก ดังนั้นเพื่อมิให้ศิลปวัฒนธรรมอีสานของเราสูญหายไป เรามารู้จักกับหนังประโมทัยกันค่ะ

“จากหนังวัวหนังควายแช่น้ำเกลือแช่น้ำปูน ตากแห้งขึงให้ตึงขูดหนาบางตามพอเหมาะ

ออกแบบวาดรูปลงแผ่นหนัง ตัดเป็นรูปฉลุตกแต่งลวดลายระบายสี

ผ่าไม้คีบเชิดหน้าไฟเงาลงจอ คนดูหัวร่อยอยอดนิยม”

หนังตะลุงหรือหนังเงา ของไทยเรานั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามขนาดและลักษณะการแสดงเป็นเกณฑ์ ได้แก่ 1.หนังตะลุง 2.หนังใหญ่ การแสดงหนังตะลุงมีลักษณะสำคัญที่แตกต่างจากหนังใหญ่ คือ ตัวหนังตะลุงมีขนาดเล็กกว่าหนังใหญ่ และเป็นที่นิยมแพร่หลายไปตามหัวเมืองต่าง ๆ มากกว่า แต่การแสดงทั้งสองอย่างเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอินเดียที่แพร่กระจายมายังดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยังพบว่าเรื่องมหากาพย์รามายณะหรือรามเกียรติ์เป็นเรื่องที่นิยมในการแสดงอย่างแพร่หลาย

หนังตะลุงของไทยเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในทุกภูมิภาคของไทย แต่เชื่อกันว่าเริ่มต้นพัฒนามาจากหัวเมืองทางใต้ แต่เมื่อหนังตะลุงกลายเป็นศิลปะการแสดงประจำถิ่นของแต่ละภาค ที่มีการปรับปรุงและดัดแปลงอย่างมากเพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของแต่ละท้องถิ่นนั้น


การแพร่กระจายของหนังตะลุงภาคใต้มายังภาคอีสาน เป็นเรื่องของการติดต่อทางวัฒนธรรมระหว่างชาวบ้านต่อชาวบ้านโดยตรง จากภาคใต้สู่ภาคกลางสู่ภาคอีสานและผ่านการปรับเปลี่ยนจนเป็นที่ยอมรับของคนในพื้นที่อีสาน คำว่าหนังประโมทัยนั้น เป็นการนำหมอลำกับหนังตะลุงมารวมกัน หรือ หนังประโมทัยก็เหมือนกับหมอลำ เพียงแต่เอารูปหนังมาเชิดแทน เพื่อให้สอดคล้องและกลมกลืนกับค่านิยมและบรรทัดฐานของสังคมอีสาน


 ประวัติความเป็นมาของหนังประโมทัยไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่เป็นหลักฐานแน่นอนมีพียงแต่ข้อสันนิษฐานบอกเล่าต่อ ๆ กันมา อาจจะตรงหรือคาดเคลื่อนกันไปบ้าง หนังประโมทัยหรือหนังตะลุงอีสาน เกิดจากการเลียนแบบหนังตะลุง คณะที่เดินทางมาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา บางแห่งก็สันนิษฐานว่าเกิดจากการที่ชาวอีสานเดินทางไปทำงานและอยู่อาศัยทางภาคกลาง ได้เห็นการแสดงหนังตะลุงที่ชาวภาคใต้นำมาจัดแสดง เลยจำเอาแบบอย่างมาดัดแปลงให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นของตน จนในที่สุดเป็นหนังประโมทัยอีสาน ที่นำเอาการแสดงหมอลำมาเป็นบทร้องบทพากษ์ดำเนินเรื่อง หนังประโมทัยอีสานมีการพัฒนาไปตามทันยุคสมัย ร้องหมอลำทำนองกลอนซิ่ง มีการแสดงคอนเสริตหน้าเวทีก่อนแสดงหนังประโมทัย

                  จังหวัด อุบลราชธานี เป็นศูนย์กลางแห่งแรกของหนังประโมทัย มีคณะหนังที่เก่าแก่ที่สุดคือ คณะฟ้าบ้านทุ่ง ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2469 คณะหนังประโมทัยที่เก่าแก่ รองลงมาได้แก่ คณะบุญมี ซึ่งมาจากจังหวัดอุบลราชธานีและมาตั้งคณะขึ้นในจังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อปี พ.ศ. 2476 คณะประกาศสามัคคี บ้านแต้ จังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2490 นอกจากนี้ยังมีคณะ ช. ถนอมศิลป์ บ้านโคกไพลี ตำบลโพธิ์ทอง กิ่งอำเภอศรีสมเด็จ คณะ ป. บันเทิงศิลป์ บ้านสีแก้ว ตำบลสีแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด คณะหนังประโมทัยของผู้ใหญ่ถัง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น คณะหนังประโมทัยเพชรโพนทัน อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร เป็นต้น หนังประโมทัยได้รับความนิยมมากในระหว่าง พ.ศ. 2469-2472 หลังจากปี 2472 ความนิยมเริ่มลดลง เพราะมีลิเกจากภาคกลางเข้ามาแสดงในภาคอีสาน หนังประโมทัยกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

หนังประโมทัยหรือหนังตะลุงอีสานนั้นมีชื่อเรียกแตกต่างกันหลายชื่อ เช่น หนังประโมทัย หนังปราโมทัย หนังปะโมทัย หนังบักตื้อ และหนังบักป่องบักแก้ว คำว่า หนังปราโมทัย น่าจะมาจากคำว่า ปราโมทย์ ซึ่งหมายถึงความบันเทิงใจ ความปลื้มใจ ส่วนคำว่า ประโมทัยและปะโมทัย สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นชื่อของคณะหนังตะลุงก็ได้ ส่วนหนังบักตื้อ และหนังบักป่องบักแก้ว มาจากชื่อตัวตลก (ตัวหนัง) ซึ่งได้รับความนิยมจากชาวบ้าน ซึ่งหนังประโมทัยเป็นการละเล่นซึ่งผสมผสานกันระหว่างหนังตะลุงกับหมอลำ โดยตัวที่เป็นตัวเอก ตัวพระ ตัวนาง หรือเป็นเจ้าจะพูดภาษากลาง ตัวตลก เหล่าเสนาอำมาตย์ จะเป็นภาษาอีสาน เรื่องที่นำมาแสดงก็จะเอาวรรณกรรมพื้นบ้านมาแสดง เช่น สังข์ศิลป์ชัย จำปาสี่ต้น การะเกษ ผาแดงนางไอ่ ท้าวก่ำกาดำ รวมทั้งโขนเรื่องรามเกียรติ์

คณะหนังประโมทัยคณะหนึ่งมีประมาณ 5-10 คน แบ่งเป็นคนเชิด 2-3 คน ซึ่งจะทำหน้าที่พากย์และเจรจาด้วย แต่ก็มีบางคณะที่ทำหน้าที่เชิดอย่างเดียว โดยมีคนเจรจาแยกเป็นชายหญิง มีนักดนตรีประมาณ 3-5 คน เครื่องดนตรีจะประกอบด้วย ระนาดเอก 1 ราง ตะโพน 1 ใบ ฉิ่ง 1 คู่ ต่อมามีการนำเอา พิณ แคน กลอง ฉิ่งฉาบ คีย์บอร์ด และดนตรีสากลเข้ามาเสริมเพื่อให้เกิดความไพเราะเร้าใจขึ้น


ความเชื่อเกี่ยวกับการแสดงหนังประโมทัย

1. ห้ามตั้งโรงหันหน้าไปทางทิศตะวันตก เพราะมีความเชื่อว่าทิศตะวันตกเป็นทิศอัปมงคล อันจะทำให้การแสดงตกต่ำไม่เจริญรุ่งเรือง

2. จะต้องทำพิธีไหว้ครูระลึกถึงพระคุณครูบาอาจารย์ก่อนการแสดงทุกครั้ง เพื่อให้เกิดศิริมงคล เกิดความมั่นใจในการแสดง และเพื่อให้ผู้ชมนิยมชมชอบในการแสดง เครื่องไหว้ครูประกอบด้วย ดอกไม้ขาว 5 คู่ เทียน 5 คู่ เงิน 12 บาท เหล้า 1 ขวด แป้งหอม 1 กระป๋อง บุหรี่ 1 ซอง

3. ห้ามตั้งโรงหนังและทำการแสดงใต้ถุนบ้าน เพราะจะทำให้เกิดเพทภัยและไม่เป็นมงคล เป็นการลบลู่ครูบาอาจารย์ ถ้าหากว่ามีความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ จะต้องทำพิธีขอขมาครูบาอาจารย์ก่อน เพื่อความเป็นศิริมงคลและเป็นการแก้เคล็ด

4. ทำการแสดง ณ ที่ใดจะต้องทำพิธีขอขมา ขออนุญาตต่อเทพาอารักษ์หลักบ้านและศาลปู่ตา เพื่อการแสดงจะได้ดำเนินไปด้วยดี ไม่มีการขัดข้องหรือเกิดเพทภัยต่าง ๆ

5. การออกเดินทางไปทำการแสดง ส่วนมากจะออกไปทางทิศเหนือก่อน เพราะเชื่อจะทำให้คณะของตนมีอำนาจเหนือสิ่งต่าง ๆ ที่จะเป็นอุปสรรค

6. ยึดถือฤกษ์ยามเดินทาง ดังนี้ วันอาทิตย์และวันพุธ ออกเดินทางตอนเช้า , วันจันทร์และวันอังคาร ออกเดินทางตอนเที่ยง , วันศุกร์และวันเสาร์ ออกเดินทางตอนบ่าย , วันพฤหัสบดี ออกดเดินทางตอนค่ำ

7. การเก็บตัวหนังจะต้องเก็บโดยให้ฤาษีอยู่บนสุด ถัดลงไปเป็นปลัดตื้อหรือตัวตลก แล้วค่อยเป็นตัวพระ ตัวนาง ตัวหนังจะต้องเก็บไว้ในที่สูง เพื่อป้องกันไม่ให้ใครเดินข้ามหรือเหยียบ

8. ระหว่างทำการแสดงห้ามบุคคลภายนอกเข้าไปในโรงหนังหรือแตะต้องตัวหนังโดยเด็ดขาด

"ตัดไม้มาสี่ลำ ปักทำขึ้นเป็นจอ สี่มุมแดงยอ กลางก็ดาดด้วยผ้าขาว

เร่งเร็วเถิดนายไต้ เอาเพลิงใส่เข้าหนหลัง ส่งแสงอย่าให้บัง จะเล่นให้ท่านทั้งหลายดู"



หนังประโมทัยอีสาน(หนังตะลุง) เป็นมหรสพพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมมากในอดีต แต่ในปัจจุบันนี้เห็นมีการแสดงน้อยมาก เนื่องจากหลงเหลือคณะประโมทัยที่ยังคงอนุรักษ์การแสดงชนิดนี้อยู่น้อยคณะ อีกทั้งโอกาสที่จะนำการแสดงมาโชว์ในเทศกาลต่างๆ ยังคงมีน้อยงาน ดังนั้นจึงขอฝากภาครัฐและเอกชนรวมถึงสถานศึกษาต่างๆ ควรเร่งฟื้นฟูและศึกษารูปแบบการแสดงไว้มิให้สูญหาย เพื่อให้ศิลปวัฒนธรรมคงอยู่คู่ชาติของเราสืบไป