วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2554

พระพิฆเนศวร

พระพิฆเนศวร
อ.วาสนา  ร่มโพธิ์ วิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา

...พวกอสูรและรากษสได้ทำการบวงสรวงพระศิวะจนได้รับพรหลายประการ จึงเกิดความฮึกเหิมก่อความเดือดร้อนไปทั่ว ร้อนถึงพระอินทร์ต้องนำเทวดาทั้งหลายไปเฝ้าพระศิวะ ขอให้พระองค์ทรงสร้างเทพแห่งความขัดข้องขึ้น พระศิวะจึงทรงแบ่งกายส่วนหนึ่งให้บังเกิดในครรภ์ของพระแม่อุมาออกมาเป็นบุรุษรูปงามนาม พิฆเนศวร มีหน้าที่ขัดขวางเหล่าอสูรคนชั่วมิให้ทำการบัดพลีขอพรจากพระศิวะ
มีเรื่องเล่าต่อมาว่าเมื่อพิฆเนศวร หรือพระคเณศมีอายุพอจะทำ พิธีโสกันต์ (โกนจุก) แล้ว พระศิวะก็ได้ให้เทวดาไปอัญเชิญพระนารายณ์หรือพระวิษณุที่บรรทมอยู่ ณ เกษียรสมุทรหรือทะเลน้ำนมมาร่วมพิธีด้วย ปรากฏว่าท่านกำลังหลับเพลินๆ พอถูกปลุกก็คงจะหงุดหงิด จึงพลั้งปากเปล่งวาจาว่า "ไอ้ลูกหัวหาย กวนใจจริง!!!!" ด้วยวาจาสิทธิ์เลยมีผลให้เศียรพระคเณศหลุดไปในทันใด !!!
พระศิวะจึงต้องมีเทวโองการให้เหล่าเทวดาไปหาหัวมนุษย์ที่เสียชีวิตมาต่อให้ แต่ปรากฏว่าวันนั้นกลับไม่มีใครตาย มีเพียงช้างที่นอนตายอยู่ทางทิศตะวันตกเท่านั้น เทวดาจึงต้องตัดหัวช้างมาต่อเศียรให้พระคเณศแทน ท่านเลยมีหัวเป็นช้างมาตั้งแต่บัดนั้น
 ส่วนสาเหตุที่พระคเณศมีเพียงงาเดียวนั้น เล่ากันว่าถูกขวานของปรศุรามขว้างใส่ ซึ่งปรศุรามนี้เป็นพราหมณ์อวตารภาคหนึ่งของพระนารายณ์ และได้รับประทานขวานเพชรจากพระศิวะ ทำให้มีฤทธิ์เดชมาก ได้ใช้เทพศัตราวุธนี้ไปล้างแค้นแทนบิดามารดา รวมถึงไปปราบปรามเหล่ากษัตริย์ทั้งหลายจนสิ้นโลก   กระนั้นก็ดีพระพระนารายณ์ก็ได้มีเทวประกาศิต แบ่งกำลังของปรศุรามมาให้พระคเณศครึ่งหนึ่ง เพื่อมิให้มีกำลังมากเกินไป และใช้ไปในทางที่ไม่ควรอีก นอกจากให้กำลังแล้วท่านยังประกาศให้พระคเณศมีพระนามว่า เอกทันตะ คือผู้มีงาเดียว และว่านามนี้จะเป็นเครื่องประกาศคุณงามความดีที่ทรงเป็นลูกกตัญญูต่อบิดา รู้จักรักษาเกียรติบิดา และยังให้นามว่า พิฆเนศวร ซึ่งหมายถึงผู้ที่สามารถกำจัดอุปสรรคได้นานาประการ
ด้วยพรที่พระวิษณุ หรือพระนารายณ์ประทานแก่พระคเณศนี้เอง ทำให้ผู้คนทั้งหลายต่างพากันบูชา เพื่อความสำเร็จแห่งตน และนอกจากพระนามข้างต้นแล้ว พระคเณศยังมีอีกหลายพระนาม ซึ่งล้วนเรียกตามลักษณะของพระองค์ทั้งสิ้น เช่น อาขุรถ หมายถึงผู้ทรงหนูเป็นพาหนะ สัพโพทร หมายถึงผู้มีท้องย้อย และ ลัมพกรรณ หมายถึงผู้มีใบหูที่ใหญ่ อีกทั้งพระคเณศยังได้ชื่อว่า เทพแห่งปัญญา
 พระพิฆเนศวร (ภาษาสันสกฤต : คเณศ) หรือ พระพิฆเนศ หรือ พระพิฆเณศ หรือ พระวิฆเณศวร หรือ คณปติ เป็นเทพในศาสนาพราหมณ์ ถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความรู้ เป็นผู้มีปัญญาเป็นเลิศ ปราดเปรื่องในศิลปวิทยาทุกแขนง (ผู้เป็นใหญ่เหนือความขัดข้อง)

ในประเทศไทยจะเห็นได้ว่ามีการบูชาเทพองค์ต่างๆในศาสนาพราหมณ์อยู่มากมาย ดูได้จากการพบรูปสลักพระพิฆเณศในเทวสถานตามจังหวัดต่างๆ ทั่วทั้งประเทศไทย   คนไทยถือว่าองค์พระพิฆเนศวรเป็นที่เคารพสักการะในฐานะองค์บรมครูแห่งศิลปวิทยาการ 18 ประการ โดยคนไทยยอมรับในองค์พระพิฆเนศวรให้เป็นเทพแห่งศิลปะทั้งมวล และเป็นเทพองค์สำคัญในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งทางศาสนาพราหมณ์ได้สถาปนาพระพิฆเนศวร เป็นเทพพระองค์แรกที่บูชาก่อนเริ่มพิธีใดๆ เป็นการคารวะในฐานะบรมครูผู้ประสาทปัญญาและความสำเร็จ สามารถขจัดอุปสรรคทั้งปวงให้หมดสิ้นไป กิจการทุกอย่างจึงสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี หน่วยงานราชการ กรมศิลปากร  สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์  วิทยาลัยนาฏศิลป วิทยาลัยช่างศิลป  มหาวิทยาลัยศิลปากร  อัญเชิญพระพิฆเนศวรเป็นสัญลักษณ์ของหน่วยงาน
เนื่องจากพระพิฆเนศวรมีพระวรกายที่ไม่เหมือนเทพอื่นๆ ได้มีการอธิบายถึงพระวรกายของพระองค์ท่านดังนี้
1. พระเศียรของท่านหมายถึงวิญญาณซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการมีชีวิต
2. พระวรกายแสดงถึงการที่เป็นมนุษย์ที่อยู่บนพื้นปฐพี
3. ศีรษะช้างแสดงถึงความเฉลียวฉลาด
4. เสียงดังที่เปล่งออกมาจากงวงหมายถึงคำว่า โอม ซึ่งเป็นเสียงแสดงถึงความเป็นสัจจะของสุริยจักรวาล
5. พระหัตถ์บนด้านขวาทรงเชือกบ่วงบาศน์ที่ทรงใช้ในการนำพามนุษย์ไปสู่เส้นทางแห่งธรรมะและหลุดพ้นพร้อมทรงขจัดอุปสรรคในระหว่างทาง
6. พระหัตถ์บนซ้ายทรงเชือกขอสับที่ใช้ในการป้องกันและพันฝ่าความยากลำบาก
7. มือขวาล่างทรงงาที่หักครึ่งซึ่งพระองค์ทรงใช้เป็นปากกาในการเขียนมหากาพย์มหาภารตะให้มหาฤษีเวทวยาสมุนีและเป็นสัญลักษณ์แห่งความเสียสละ
8. อีกมือทรงลูกประคำที่แสดงว่าการแสวงหาความรู้จะต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
9.ขนมโมณฑกะหรือขนมหวานลัดดูในงวงเป็นการชี้นำว่ามนุษย์จะต้องแสวงหาความ หวานชื่นในจิตวิญญาณของตนเองเพื่อที่จะได้มีจิตเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้กับคนอื่นๆ
10. หูที่กว้างใหญ่เหมือนใบพัดหมายความว่าท่านพร้อมที่รับฟังสิ่งที่เราร้องเรียนและเรียกหา
11. งูที่พันอยู่รอบท้องท่านแสดงถึงพลังที่มีอยู่โดยรอบ
12. หนูที่ทรงใช้เป็นพาหนะแสดงถึงความไม่ถือองค์และพร้อมที่จะเกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตที่เล็กและเป็นที่รังเกียจของมนุษย์ส่วนมาก

สำหรับคอลัมภ์นี้ ผู้เขียนได้อัญเชิญตำนานแห่งองค์พระคเณศ อันเป็นเกร็ดเล็กน้อยมาเล่าสู่กันฟังค่ะ แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้า  สวัสดีค่ะ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น