วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2554

หนังประโมทัย มหรสพพื้นบ้านอีสาน




หนังประโมทัย มหรสพพื้นบ้านอีสาน

อ. วาสนา ร่มโพธิ์ วิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา

             สวัสดีค่ะ...ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่าน พบกันอีกครั้งกับศิลปะ บันเทิง ที่มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมไทย อันเป็นมรดกที่สำคัญของชาติ มีท่านผู้อ่านหลายท่านที่ให้การตอบรับกับเนื้อหาสาระในคอลัมภ์นี้อย่างเนืองแน่น ครูบางท่านนำไปเป็นเอกสารประกอบการสอนในชั้นเรียน ผู้เขียนจึงขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ ที่ได้มีโอกาสเผยแพร่ความรู้ไปสู่เยาวชนของชาติ

สำหรับวันนี้ผู้เขียนมีเรื่องราวเกี่ยวกับ หนังประโมทัย ซึ่งเป็นหนังตะลุงอีสาน มหรสพพื้นบ้านอีสานซึ่งปัจจุบันหาชมได้ยาก ดังนั้นเพื่อมิให้ศิลปวัฒนธรรมอีสานของเราสูญหายไป เรามารู้จักกับหนังประโมทัยกันค่ะ

“จากหนังวัวหนังควายแช่น้ำเกลือแช่น้ำปูน ตากแห้งขึงให้ตึงขูดหนาบางตามพอเหมาะ

ออกแบบวาดรูปลงแผ่นหนัง ตัดเป็นรูปฉลุตกแต่งลวดลายระบายสี

ผ่าไม้คีบเชิดหน้าไฟเงาลงจอ คนดูหัวร่อยอยอดนิยม”

หนังตะลุงหรือหนังเงา ของไทยเรานั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามขนาดและลักษณะการแสดงเป็นเกณฑ์ ได้แก่ 1.หนังตะลุง 2.หนังใหญ่ การแสดงหนังตะลุงมีลักษณะสำคัญที่แตกต่างจากหนังใหญ่ คือ ตัวหนังตะลุงมีขนาดเล็กกว่าหนังใหญ่ และเป็นที่นิยมแพร่หลายไปตามหัวเมืองต่าง ๆ มากกว่า แต่การแสดงทั้งสองอย่างเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอินเดียที่แพร่กระจายมายังดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยังพบว่าเรื่องมหากาพย์รามายณะหรือรามเกียรติ์เป็นเรื่องที่นิยมในการแสดงอย่างแพร่หลาย

หนังตะลุงของไทยเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในทุกภูมิภาคของไทย แต่เชื่อกันว่าเริ่มต้นพัฒนามาจากหัวเมืองทางใต้ แต่เมื่อหนังตะลุงกลายเป็นศิลปะการแสดงประจำถิ่นของแต่ละภาค ที่มีการปรับปรุงและดัดแปลงอย่างมากเพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของแต่ละท้องถิ่นนั้น


การแพร่กระจายของหนังตะลุงภาคใต้มายังภาคอีสาน เป็นเรื่องของการติดต่อทางวัฒนธรรมระหว่างชาวบ้านต่อชาวบ้านโดยตรง จากภาคใต้สู่ภาคกลางสู่ภาคอีสานและผ่านการปรับเปลี่ยนจนเป็นที่ยอมรับของคนในพื้นที่อีสาน คำว่าหนังประโมทัยนั้น เป็นการนำหมอลำกับหนังตะลุงมารวมกัน หรือ หนังประโมทัยก็เหมือนกับหมอลำ เพียงแต่เอารูปหนังมาเชิดแทน เพื่อให้สอดคล้องและกลมกลืนกับค่านิยมและบรรทัดฐานของสังคมอีสาน


 ประวัติความเป็นมาของหนังประโมทัยไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่เป็นหลักฐานแน่นอนมีพียงแต่ข้อสันนิษฐานบอกเล่าต่อ ๆ กันมา อาจจะตรงหรือคาดเคลื่อนกันไปบ้าง หนังประโมทัยหรือหนังตะลุงอีสาน เกิดจากการเลียนแบบหนังตะลุง คณะที่เดินทางมาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา บางแห่งก็สันนิษฐานว่าเกิดจากการที่ชาวอีสานเดินทางไปทำงานและอยู่อาศัยทางภาคกลาง ได้เห็นการแสดงหนังตะลุงที่ชาวภาคใต้นำมาจัดแสดง เลยจำเอาแบบอย่างมาดัดแปลงให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นของตน จนในที่สุดเป็นหนังประโมทัยอีสาน ที่นำเอาการแสดงหมอลำมาเป็นบทร้องบทพากษ์ดำเนินเรื่อง หนังประโมทัยอีสานมีการพัฒนาไปตามทันยุคสมัย ร้องหมอลำทำนองกลอนซิ่ง มีการแสดงคอนเสริตหน้าเวทีก่อนแสดงหนังประโมทัย

                  จังหวัด อุบลราชธานี เป็นศูนย์กลางแห่งแรกของหนังประโมทัย มีคณะหนังที่เก่าแก่ที่สุดคือ คณะฟ้าบ้านทุ่ง ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2469 คณะหนังประโมทัยที่เก่าแก่ รองลงมาได้แก่ คณะบุญมี ซึ่งมาจากจังหวัดอุบลราชธานีและมาตั้งคณะขึ้นในจังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อปี พ.ศ. 2476 คณะประกาศสามัคคี บ้านแต้ จังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2490 นอกจากนี้ยังมีคณะ ช. ถนอมศิลป์ บ้านโคกไพลี ตำบลโพธิ์ทอง กิ่งอำเภอศรีสมเด็จ คณะ ป. บันเทิงศิลป์ บ้านสีแก้ว ตำบลสีแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด คณะหนังประโมทัยของผู้ใหญ่ถัง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น คณะหนังประโมทัยเพชรโพนทัน อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร เป็นต้น หนังประโมทัยได้รับความนิยมมากในระหว่าง พ.ศ. 2469-2472 หลังจากปี 2472 ความนิยมเริ่มลดลง เพราะมีลิเกจากภาคกลางเข้ามาแสดงในภาคอีสาน หนังประโมทัยกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

หนังประโมทัยหรือหนังตะลุงอีสานนั้นมีชื่อเรียกแตกต่างกันหลายชื่อ เช่น หนังประโมทัย หนังปราโมทัย หนังปะโมทัย หนังบักตื้อ และหนังบักป่องบักแก้ว คำว่า หนังปราโมทัย น่าจะมาจากคำว่า ปราโมทย์ ซึ่งหมายถึงความบันเทิงใจ ความปลื้มใจ ส่วนคำว่า ประโมทัยและปะโมทัย สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นชื่อของคณะหนังตะลุงก็ได้ ส่วนหนังบักตื้อ และหนังบักป่องบักแก้ว มาจากชื่อตัวตลก (ตัวหนัง) ซึ่งได้รับความนิยมจากชาวบ้าน ซึ่งหนังประโมทัยเป็นการละเล่นซึ่งผสมผสานกันระหว่างหนังตะลุงกับหมอลำ โดยตัวที่เป็นตัวเอก ตัวพระ ตัวนาง หรือเป็นเจ้าจะพูดภาษากลาง ตัวตลก เหล่าเสนาอำมาตย์ จะเป็นภาษาอีสาน เรื่องที่นำมาแสดงก็จะเอาวรรณกรรมพื้นบ้านมาแสดง เช่น สังข์ศิลป์ชัย จำปาสี่ต้น การะเกษ ผาแดงนางไอ่ ท้าวก่ำกาดำ รวมทั้งโขนเรื่องรามเกียรติ์

คณะหนังประโมทัยคณะหนึ่งมีประมาณ 5-10 คน แบ่งเป็นคนเชิด 2-3 คน ซึ่งจะทำหน้าที่พากย์และเจรจาด้วย แต่ก็มีบางคณะที่ทำหน้าที่เชิดอย่างเดียว โดยมีคนเจรจาแยกเป็นชายหญิง มีนักดนตรีประมาณ 3-5 คน เครื่องดนตรีจะประกอบด้วย ระนาดเอก 1 ราง ตะโพน 1 ใบ ฉิ่ง 1 คู่ ต่อมามีการนำเอา พิณ แคน กลอง ฉิ่งฉาบ คีย์บอร์ด และดนตรีสากลเข้ามาเสริมเพื่อให้เกิดความไพเราะเร้าใจขึ้น


ความเชื่อเกี่ยวกับการแสดงหนังประโมทัย

1. ห้ามตั้งโรงหันหน้าไปทางทิศตะวันตก เพราะมีความเชื่อว่าทิศตะวันตกเป็นทิศอัปมงคล อันจะทำให้การแสดงตกต่ำไม่เจริญรุ่งเรือง

2. จะต้องทำพิธีไหว้ครูระลึกถึงพระคุณครูบาอาจารย์ก่อนการแสดงทุกครั้ง เพื่อให้เกิดศิริมงคล เกิดความมั่นใจในการแสดง และเพื่อให้ผู้ชมนิยมชมชอบในการแสดง เครื่องไหว้ครูประกอบด้วย ดอกไม้ขาว 5 คู่ เทียน 5 คู่ เงิน 12 บาท เหล้า 1 ขวด แป้งหอม 1 กระป๋อง บุหรี่ 1 ซอง

3. ห้ามตั้งโรงหนังและทำการแสดงใต้ถุนบ้าน เพราะจะทำให้เกิดเพทภัยและไม่เป็นมงคล เป็นการลบลู่ครูบาอาจารย์ ถ้าหากว่ามีความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ จะต้องทำพิธีขอขมาครูบาอาจารย์ก่อน เพื่อความเป็นศิริมงคลและเป็นการแก้เคล็ด

4. ทำการแสดง ณ ที่ใดจะต้องทำพิธีขอขมา ขออนุญาตต่อเทพาอารักษ์หลักบ้านและศาลปู่ตา เพื่อการแสดงจะได้ดำเนินไปด้วยดี ไม่มีการขัดข้องหรือเกิดเพทภัยต่าง ๆ

5. การออกเดินทางไปทำการแสดง ส่วนมากจะออกไปทางทิศเหนือก่อน เพราะเชื่อจะทำให้คณะของตนมีอำนาจเหนือสิ่งต่าง ๆ ที่จะเป็นอุปสรรค

6. ยึดถือฤกษ์ยามเดินทาง ดังนี้ วันอาทิตย์และวันพุธ ออกเดินทางตอนเช้า , วันจันทร์และวันอังคาร ออกเดินทางตอนเที่ยง , วันศุกร์และวันเสาร์ ออกเดินทางตอนบ่าย , วันพฤหัสบดี ออกดเดินทางตอนค่ำ

7. การเก็บตัวหนังจะต้องเก็บโดยให้ฤาษีอยู่บนสุด ถัดลงไปเป็นปลัดตื้อหรือตัวตลก แล้วค่อยเป็นตัวพระ ตัวนาง ตัวหนังจะต้องเก็บไว้ในที่สูง เพื่อป้องกันไม่ให้ใครเดินข้ามหรือเหยียบ

8. ระหว่างทำการแสดงห้ามบุคคลภายนอกเข้าไปในโรงหนังหรือแตะต้องตัวหนังโดยเด็ดขาด

"ตัดไม้มาสี่ลำ ปักทำขึ้นเป็นจอ สี่มุมแดงยอ กลางก็ดาดด้วยผ้าขาว

เร่งเร็วเถิดนายไต้ เอาเพลิงใส่เข้าหนหลัง ส่งแสงอย่าให้บัง จะเล่นให้ท่านทั้งหลายดู"



หนังประโมทัยอีสาน(หนังตะลุง) เป็นมหรสพพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมมากในอดีต แต่ในปัจจุบันนี้เห็นมีการแสดงน้อยมาก เนื่องจากหลงเหลือคณะประโมทัยที่ยังคงอนุรักษ์การแสดงชนิดนี้อยู่น้อยคณะ อีกทั้งโอกาสที่จะนำการแสดงมาโชว์ในเทศกาลต่างๆ ยังคงมีน้อยงาน ดังนั้นจึงขอฝากภาครัฐและเอกชนรวมถึงสถานศึกษาต่างๆ ควรเร่งฟื้นฟูและศึกษารูปแบบการแสดงไว้มิให้สูญหาย เพื่อให้ศิลปวัฒนธรรมคงอยู่คู่ชาติของเราสืบไป

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณค่ะครู บรรยายได้เข้าใจง่าย และก็เป็นที่สนใจอีกด้วยค่ะ

    ตอบลบ