พิธีไหว้ครูดนตรีไทย
อ.วาสนา ร่มโพธิ์ วิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา
พิธีไหว้ครูดนตรีไทยเป็นพิธีไหว้ครูที่เหล่าบรรดานักดนตรีไทยจำเป็นต้องผ่านกระบวนการไหว้ครูตามขั้นตอน เพื่อให้เกิดศิริมงคลและเป็นการอำนวยอวยพรให้แก่ลูกศิษย์ที่ใช้วิชาชีพดนตรีเลี้ยงตนเองและครอบครัว ประกอบกับเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ ดังนั้นผู้เขียนจึงขอลำดับขั้นตอนต่างๆ ในพิธีไหว้ครูดนตรีบางส่วน เพื่อเป็นความรู้และเป็นการถ่ายทอดประเพณีอันดีงามให้คงอยู่สืบไป
พิธีการครอบจับมือต่อเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ
เพลงหน้าพาทย์ใช้บรรเลงในโอกาสสำคัญ 3 ประการคือ
1. เพลงหน้าพาทย์ที่ใช้บรรเลงประกอบพิธีกรรมไหว้ครูนาฏศิลป์และดนตรีไทย
2. เพลงหน้าพาทย์ที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดง - มหรสพ ต่างๆ
3. เพลงหน้าพาทย์ที่ใช้บรรเลงประกอบพระราชพิธี
เพลงหน้าพาทย์ทั้ง 3 ประเภทนี้ โบราณได้จัดแบ่งลำดับความสำคัญไว้ 3 ระดับ คือ หน้าพาทย์ชั้นต้น หน้าพาทย์ชั้นกลาง และหน้าพาทย์ชั้นสูง พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเรียนในหลักสูตรดนตรีไทย ได้กำหนดกรอบในการต่อเพลงหน้าพาทย์และพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเรียน โดยแบ่งตามระดับชั้น และมีการครอบเพื่อเรียนเพลงหน้าพาทย์ 5 ขั้น คือ
2. ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ครอบขั้นที่ 2 จับมือต่อเพลงตระโหมโรง
3. ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ครอบขั้นที่ 3 จับมือต่อเพลงตระบองกัน
4. ระดับชั้นปริญญาตรีปีที่ 1 ครอบขั้นที่ 4 จับมือต่อเพลงบาทสกุณี
5. การครอบขั้นที่ 5 เป็นการจับมือต่อเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ได้มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะครอบต่อเพลง คือ ได้ผ่านการศึกษาเพลงหน้าพาทย์มาครบทั้ง 4 ขั้นแล้ว เป็นผู้มีวัยวุฒิ ผ่านการบวชเรียนมาแล้ว 1 พรรษา เข้ารับศีลฟังพระสวดมนต์เย็น แต่งกายชุดสีขาว ก่อนการครอบจับมือต่อเพลงต้องมีพิธีกรรมตั้งเครื่องสังเวย และหลังจากการครอบจับมือต่อเพลง ต้องมาต่อเพลงในโบสถ์ ดังนั้นการครอบต่อเพลงในขั้นนี้จึงเป็นการครอบหลังจากจบการศึกษาในหลักสูตรของวิทยาลัยนาฏศิลปหรือเป็นครูอาจารย์แล้ว และพิธีกรรมสุดท้ายคือเป็นประธานอ่านโองการไหว้ครูดนตรีไทย
ที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าการเรียนเพลงหน้าพาทย์ในระบบนั้นได้ดำเนินการตั้งแต่ขั้นที่ 1 ถึงขั้นที่ 4 เท่านั้น สำหรับการครอบเพื่อจะขอต่อเพลงในขั้นที่ 5 คือเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ มิได้อยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอน แต่เป็นภาระและหน้าที่ของกรมศิลปากร ในการที่จะต้องดำเนินการอนุรักษ์ เผยแพร่ สืบทอด และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม คัดเลือกบุคลากรในสายวิชาชีพเข้ารับการครอบต่อเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ เพื่อที่จะได้บุคลากรเป็นครูโดยสมบูรณ์และเป็นศิลปินที่มีความรู้ความสามารถตามกระบวนการดนตรีไทย
เพลงหน้าพาทย์ พระพิราพเต็มองค์ หรือเพลงองค์พระพิราพ
เพลงองค์พระพิราพ เป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูง และมีความสำคัญที่สุด ในวงการนาฏศิลป์ไทย และดุริยางค์ไทย ให้ความศรัทธา เคารพนับถือเป็นอย่างมากและเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เป็นสัญลักษณ์ในการเสด็จมาของเทพอสูรที่มีฤทธานุภาพ อันมีนามว่า “พระพิราพ” ซึ่งเป็นเทพอสูรที่สามารถดลบันดาลให้ผู้ที่เคารพบูชา พบกับความสุข เนื่องจากความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ การบรรเลงหรือการออกแสดงท่ารำหน้าพาทย์เพลงนี้จึงต้องกระทำด้วยจิตอันศรัทธา เพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพนั้น ถือว่าเป็นเพลงอัญเชิญเทพเจ้า ซึ่งเชื่อว่า พระพิราพ เป็นปางหนึ่งของพระอิศวร และด้วยความชาญฉลาดแห่งภูมิปัญญาของโบราณจารย์ ได้ผนวกความเชื่อพระพิราพ ในรูป “เทพเจ้า” และ “ตัวโขน” เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยนำเพลงหน้าพาทย์เฉพาะองค์พระพิราพในฐานะเทพเจ้า ซึ่งไม่มีโอกาสนำไปใช้กับการแสดงอื่น นำเข้ามาบรรจุในการแสดงโขน ตอนพระรามเข้าสวนพิราพ
การถ่ายทอดท่ารำจะมีลักษณะการถ่ายทอดที่มีระเบียบเคร่งครัดคือ ผู้ที่จะรำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพได้ ต้องได้รับพระบรมราชโองการ หรือพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือมิเช่นนั้นก็ต้องเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมาย จากผู้ที่เคยได้รับพระบรมราชโองการ หรือพระบรมราชานุญาตโดยตรง และการถ่ายทอดท่ารำต้องใช้สถานที่เหมาะสม เพราะท่ารำนั้นเป็นท่ารำของมหาเทพ คือพระอิศวร ซึ่งมีฤทธานุภาพมาก ดังนั้นจึงต้องเป็น วัง หรือวัด เท่านั้น “ห้ามถ่ายทอดท่ารำในบ้านเป็นอันขาดเนื่องจากบ้านเป็นที่อยู่อาศัยของสามัญชน”
สถานที่ประกอบพิธีไหว้ครู ควรจะมีบริเวณกว้างขวางมาก ๆ ให้พอที่บรรดา ศิษยานุศิษย์และผู้ที่จะมาร่วมพิธีได้นั่งพอสบายเนื่องจากพิธีไหว้ครูนั้น ใช้เวลาในการประกอบพิธีนานพอสมควร
การจัดสถานที่สำหรับตั้งศีรษะครูและเครื่องดนตรีไทย เครื่องดนตรีสากล รวมถึงเครื่องดนตรีพื้นบ้านต่างๆ ต้องจัดยกแท่นสูง ทำแท่นลดหลั่นให้ถูกต้องระดับชั้นสูง ต่ำ ของศีรษะเทพเจ้าที่เราจะอัญเชิญมาตั้งในการประกอบพิธีไหว้ครู ควรจะมีครบถ้วนตามที่มีอยู่ในคำอ่านโองการไหว้ครูเป็นอย่างน้อย สำหรับการไหว้ครูนาฏศิลป์ – ดนตรีไทย มีการเชิญมาตั้ง คือ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระวิสสุกรรม พระปัญจสิขร พระปรคนธรรพ พระฤาษี พระคเณศร์ พระพิราพ
ประโยชน์ของการไหว้ครู
การที่ได้ประกอบพิธีไหว้ครูตามประเพณีที่ถูกต้อง ย่อมบังเกิดประโยชน์ได้หลายประการ คือ
1. ได้รักษาประเพณีอันเป็นวัฒนธรรมอันดีของไทยไว้ให้ยืนยงต่อไป
2. ได้แสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีอันเป็นเครื่องหมายของคนดีเป็นแบบอย่างส่งเสริมให้ศิษย์รุ่นต่อ ๆ ไป รู้สึกกตัญญูกตเวทีต่อครูบาอาจารย์เป็นการบำรุงขวัญของผู้ที่ได้ร่วมในพิธีไหว้ครูและครอบครู เพราะว่าได้กระทำพิธีต่าง ๆ ครบถ้วนตามแบบแผนแล้ว เวลาที่จะปฏิบัติก็จะมีจิตใจมั่นคง และมีขวัญดี
3. เป็นการเสริมความสามัคคีระหว่างศิลปินด้วยกัน เพราะในการประกอบพิธี ไหว้ครูนั้น บรรดานักดนตรี – นักแสดงทั้งหลาย แม้จะอยู่คนละคณะก็มักจะมาร่วมในพิธีไหว้ครูด้วยกัน ได้พบปะสังสรรค์กันเป็นอันดี เป็นการเชื่อม ความสามัคคีในหมู่ดุริยางค์ – นาฏศิลป์ด้วยกันให้แน่นแฟ้น
ขันไหว้ครู
ขันไหว้ครู คือ สิ่งที่ “ศิษย์” นำไป กำนัล แด่ “ครู” หรือที่เรียกกันว่า กำนลครู เพื่อเป็นเครื่องแสดงความเคารพบูชาครูที่ท่านยอมรับเป็นศิษย์ พิธีการนี้กระทำหลังจาก “ผู้ประกอบพิธี” ได้อ่านโองการฯอัญเชิญเทพยดามายังพิธีเพื่อรับเครื่องกระยาบวด สังเวย รับการขอขมากรรมและขอให้ท่านอำนวยพรแก่ศิษย์ใหม่ในครั้งนั้น ในขันไหว้ครู มีสิ่งของ 5 อย่าง และถ้านับ “ขัน” รวมด้วยก็เป็น 6 อย่าง คือ
1. ขัน ที่ใช้ใส่สิ่งของกำนลครู เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เปรียบเหมือนว่าถ้าครูใช้ขันล้างหน้า ศิษย์ก็ได้รับการชำระสิ่งสกปรกต่าง ๆของตนออกไป และสิ่งของที่นำมาพร้อมกับขัน คือ
2. ดอกไม้ ใช้บูชาครู แสดงถึงความอ่อนน้อมยอมตัวเป็นศิษย์ นิยมใช้หญ้าแพรก ดอกมะเขือ ซึ่งมีความหมายให้มีสติปัญญาแตกฉาน เรียนรู้ได้ดี เช่นเดียวกับดอกไม้นั้น
3. ธูป ที่ใช้จุดบูชาพระรัตนตรัย 3 ดอก หมายถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ธูปในที่นี้ หมายถึง สมาธิ ความอดทน พากเพียรพยายาม ในการฝึกดนตรีและนาฏศิลป์4. เทียน ที่ใช้จุดบูชาพระ หมายถึง “ปัญญา” ซึ่งเปรียบเหมือนแสงสว่างของเทียนที่นำสู่ความสว่างไสวของการศึกษาเล่าเรียน ที่ต้องการให้สำเร็จตามจุดมุ่งหมายที่ต้องการ
5. ผ้าขาว หมายถึง “ศีล” ที่บริสุทธิ์ เป็นความบริสุทธิ์ใจของศิษย์ที่ประสงค์จะขอเรียนรู้วิชาการจากครู “ผ้าขาว” ถือว่าเป็นสิ่งมีค่าหายากใช้ประโยชน์ได้สารพัด
6. เงินกำนล หมายถึง “ความกตัญญู” ที่ศิษย์ตอบแทนครู มิใช่ค่าตอบแทน แต่ถือว่าการถ่ายทอดวิชาการทางด้านศิลปะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าเป็นมรดกที่ครูมอบให้ด้วยความรัก ความเมตตา
การเจิมหน้า
ในพิธีไหว้ครูผู้ประกอบพิธีท่านจะเลือกสรรนิ้วที่มีความหมายในการให้คุณด้านความดีความงาม คือ นิ้วนาง แต่นิ้วนางเป็นนิ้วที่มีกำลังน้อย ท่านจึงเลือกนิ้วหัวแม่มือซึ่งเป็นนิ้วที่ให้คุณอย่างดีเลิศเข้าประกบกับนิ้วนางแตะแป้งสำหรับเจิมหน้าแก่บรรดาศิษยานุศิษย์ซึ่งทำให้ความหมายเมื่อรวมกันแล้วคือมีความดีงามอย่างยอดยิ่ง
หากท่านใดสนใจที่จะเข้าร่วมพิธีไหว้ครูดนตรีและนาฏศิลป์ไทย ที่เป็นระเบียบแบบแผนอย่างโบราณที่สืบทอดต่อกันมา สามารถสอบถามรายละเอียดการเข้าร่วมพิธีได้ช่วงประมาณต้นเดือนมิถุนายน ของทุกปี หรือโทรศัพท์สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.044-465152 วิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา แล้วพบกันในครั้งต่อไป สวัสดีค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น