วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2554

นกเขาคารมโคราช



นกเขาคารมโคราช
บทความ  โดย อ.วาสนา  ร่มโพธิ์ 
 วิทยาลัยนาฏศิลปนครราชสีมา

"นกเขาคารม" เป็นสัตว์นำโชค เนื่องจากเห็นว่า นกเขาคารม เป็นสัตว์ประจำท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงของเมืองโคราช ประกอบกับ นกเขาคารม เคยเป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญประจำ จ.นครราชสีมา ที่กล่าวไว้ว่า
"นกเขาคารม อ้อยคันร่ม ส้มขี้ม้า ผ้าหางกระรอก แมวสีสวาด ประสาทหิน ดินด่านเกวียน
และที่ผ่านมา อาเซียนพาราเกมส์ที่ จ.นครราชสีมา พ.ศ. 2550 ที่ผ่านมาใช้ นกเขาคารม เป็นสัตว์นำโชค อีกด้วย
วันนี้เรามารู้จักนกเขาคารมโคราชกันดู ว่านกชนิดนี้จะมีความพิเศษอย่างไรบ้าง หากใครสนใจจะได้นำมาเลี้ยงเป็นสัตว์นำโชคของบ้านเอง
นกเขาคารม โคราช  คือ นกเขาใหญ่ ที่เปล่งเสียงร้องออกมา แต่ละพยางค์ไม่ซ้ำกับเสียงเดิม มีลูกเล่น สรรหาเสียงต่าง ๆ มาเรียงพยางค์ต่อกัน เป็นวรรคเป็นตอน ฟังเพลินได้อารมณ์และความรู้สึก คารมดี- ไม่ดี อยู่ที่การเรียงลำดับเสียงที่สลับกลับเปลี่ยนไป-มาและความชัดเจนของเสียง
วิธีการฟังเสียงนกเขาคารม โคราช  เมื่อมีการประชันขันแข่ง
ธรรมชาติของนกเขาใหญ่ จะมีขันอยู่ 3 อย่าง คือ
1. ขันโยน  เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของพื้นที่บริเวณเขตแดนของตน
1.1 นกเขาปกติ ขันโยน 4 พยางค์ ดังนี้ กุ๊ก-กรู-กรู-กุ๊ก แล้วขึ้นชุดใหม่ กุ๊ก-กรู-กรู-กุ๊ก จะขันกี่ชุดก็มี 4 พยางค์ ดังนี้
- นกสองกุ๊ก  มีเสียงกุ๊กเพิ่มอีก 1 ครั้ง ในพยางค์ที่ 4 รวมขันเป็น 5 พยางค์ ดังนี้ กุ๊ก-กรู-กรู-กุ๊ก-กุ๊ก แล้วขึ้นอีก 5 พยางค์ เหมือนเดิม
- นกสามกุ๊ก-สี่กุ๊ก ก็ทำนองเดียวกันคือ นับพยางค์ที่ 4 เป็นกุ๊กแรกโดยจะต่อกุ๊กอีกกี่ชุด ก็นับเอา-เรียกชื่อเท่านั้นกุ๊ก-2 กุ๊ก-3-4-5 กุ๊ก มีผู้นิยมเลี้ยงเป็นนก มงคลตอนขันโยนนี้ไม่มีคารม
- นกหลิ่ว ขันเพียง 3 พยางค์ ไม่มีเสียงกุ๊ก ในพยางค์ที่ 4 ดังนี้ กุ๊ก-กรุ-กรู , กุ๊ก-กรุ-กรู ขันโยนกี่ชุดก็เหมือนกัน (เรียกว่า หลิ่วตัน )   นกหลิ่วตัน นั้นมีความนิยมว่า เป็นนกมงคล ป้องกันภัยอันตรายจากการเจ็บไข้ต่าง ๆ คุ้มบ้านคุ้มเรือน จะไม่มีการฟังขันคารม
- นกหลิ่วแกมกุ๊ก จะมีการขันหลิ่วตันบ้าง ชุดอื่นอาจลงกุ๊ก ในพยางค์ที่ 4 บ้าง ไม่แน่นอน
1.2 ขันคู เป็นการขันเพื่อแสดงอำนาจ ขู่ ขับไล่ ท้าทาย ชวนทะเลาะ มี 2 พยางค์คือ จู้กรู-จู้กรู-จู้กรู  ตอนนี้จะไม่มีการฟังคารม
1.3 ขันเรียก เป็นตอนที่ฟังคารม นกขันเรียกตอนนี้จะระบายอารมณ์  แสดงความสามารถเฉพาะตัว จะมีเสียงแปลก พิสดาร มีหนักมีเบา แผ่ว กระชั้น เปลี่ยนเสียง สูง ต่ำ สั้น ยาว น่าฟังเป็นพิเศษ นกเขาคารม ฟังตอนขันเรียกนี้เท่านั้น
2. เสียงของนกเขาคารม
    2.1 เสียงหลัก เป็นเสียงบังคับ จะต้องมีในนกเขาคารม (ตอนขันเรียก) มี 3 เสียง เรียกว่า สามเส้า หรือ สามขัด คือ
เจ้าพุทธโธ          ถ้าขันอย่างชัดเจนดังปากว่าจะยิ่งดี         
เจ็กหัวโต            ถ้าขันอย่างชัดเจนดังปากว่าจะยิ่งดี         
โก้โก                   ถ้าขันอย่างชัดเจนดังปากว่าจะยิ่งดี            
อะไรขึ้นต้น ลงท้าย หรืออยู่กลางได้ทั้งนั้น
2.2 เสียงพิเศษไม่เป็นเสียงบังคับ   แต่ถ้ามีสลับไว้ ที่ใดที่หนึ่งของเสียงหลักทั้งสาม เสียงจะฟังแปลกดีจะได้รับการพิจารณา เกี่ยวกับคารมเกินกว่านกสามเส้าธรรมดา
                    2.2.1 โก้ โก โก้ เสียงนี้มีในนกตัวใดจะรับฟังได้อย่างชัดเจนมาก ต่างจากนกตัวอื่น
                    2.2.2 โก้ โก้ โก เสียงนี้ต้องใช้ความละเอียดเพราะอาจปะปนกับเสียงหลักเจ้าพุทโธ
2.2.3 โก้ ห๊ก โก เสียงนี้ต้องใช้ความละเอียดเพราะอาจปะปนกับเสียงหลักเจ็กหัวโต
2.2.4  โต้น โต  เสียงนี้ต้องใช้ความละเอียดเพราะอาจปะปนกับเสียงหลักโก้ โก
2.2.5  ทองเกิดเอย ส่วนมากจะมีอยู่ในชุดแรกของการขันเรียก ซึ่งมีอยู่น้อยตัว เป็นนกมงคล
 3. เสียงคารม
  คือ เสียงที่เปล่งออกมาโดยใช้เสียงหลัก 1. เจ้าพุทโธ    2. เจ็กหัวโต    3. โก้ โก   สลับพยางค์กัน สลับ
เปลี่ยนกัน ให้ครบทั้ง 3 เสียง ไม่หนัก(มาก) ทางเสียงใดเสียงหนึ่งในเวลาที่กำหนด เมื่อให้เสียง พุทโธ ไป 30 คำ เสียงเจ็กหัวโต และโก้ โก ก็ควรมี 30 คำหรือใกล้เคียงกับ 30 คำด้วย  แล้วนำเสียงพิเศษมาสลับไว้บางที่ บางพยางค์ ก็จะทำให้ไพเราะ น่าฟังยิ่งขึ้น
ความนิยม ไม่นิยมซ้ำเสียงหลักเกิน 2 ครั้ง เช่น เมื่อมีเสียง เจ้าพุทโธ ไปแล้ว จะมีเสียง เจ้าพุทโธ ซ้ำมาอีกอนุโลมได้อีก1  ครั้ง แต่ถ้าเกินนั้นจะฟังเบื่อหู
ตัวอย่างเสียงคารม
1. แบบไม่ซ้ำ
            เจ้าพุทโธ   โก้โก   เจ็กหัวโต   โก้โก เจ้าพุทโธ  เจ็กหัวโต เจ้าพุทโธ โก้โก  เจ็กหัวโต
  เจ้าพุทโธ  เจ็กหัวโต โก้โก เจ้าพุทโธ  โก้โก  เจ้าพุทโธ  โก้โก  เจ็กหัวโต  โก้โก
2. แบบโก้ โก ซ้อน
โก้โก   เจ้าพุทโธ  เจ็กหัวโต   (โก้ โก + โก้โก ) เจ้าพุทโธ (โก้โก + โก้โก) เจ็กหัวโต
โก้โก   เจ้าพุทโธ  เจ็กหัวโต   (โก้ โก + โก้โก ) เจ้าพุทโธ (โก้โก + โก้โก) เจ็กหัวโต
3. แบบพุทโธ ซ้อน
เจ้าพุทโธ โก้โก  เจ็กหัวโต  โก้โก (เจ้าพุทโธ + เจ้าพุทโธ) เจ็กหัวโต เจ้าพุทโธ
เจ็กหัวโต  โก้โก เจ้าพุทโธ โก้โก เจ้าพุทโธ  โก้โก (เจ้าพุทโธ + เจ้าพุทโธ) เจ็กหัวโต
4. แบบเจ็กหัวโต ซ้อน
เจ้าพุทโธ  โก้โก เจ็กหัวโต โก้โก (เจ๊กหัวโต + เจ็กหัวโต) โก้โก พุทโธ โก้โก
(เจ๊กหัวโต + เจ็ก) เจ้าพุทโธ โก้โก เจ้าพุทโธ (เจ๊กหัวโต + เจ็กหัวโต) เจ้าพุทโธ
5. แบบมีเสียงพิเศษสลับ
เจ้าพุทโธ  โก้โก   เจ็กหัวโต  โก้โก้โก   เจ๊กหัวโต  เจ้าพุทโธ  โก้โก  โก้โกโก้
เจ้าพุทโธ   เจ็กหัวโต  โก้ ห๊กโก  เจ้าพุทโธ  โก้โก  เจ้าพุทโธ  โก้โก  เจ็กหัวโต โก้โก
สรุปว่าการฟังเสียงของนกเขาเมื่อเวลาขันเรียกต้องพยามฟังอย่างละเอียดคือ
1.ซ้อนได้ทุกเสียง เสียงหลัก และเสียงพิเศษไม่เกิน 2 คำ
2. เสียงพิเศษที่ไม่นิยม คือ เสียงติดอ่าง เสียงไม่ชัดเจน เสียงที่ทำให้เสียจังหวะ ทำให้เสียวรรค ตอน หรือ ฟังไม่ออกว่าเสียงอะไร
6. ขันทน
 เมื่อขันเรียกแล้วต้องขันต่อเนื่อง ไม่หยุด ไม่ทิ้งช่วงวรรคนาน ขาดจังหวะ ไม่ปะติดปะต่อ ไม่ตื่น ดิ้นรน กลัว
7.น้ำเสียง
คือ คุณภาพของเสียง มีความกังวาน ก้อง ชัดเจน ได้จังหวะ ไพเราะนุ่มนวล ได้อารมณ์ ไม่ห้วน กระโชก ตะโกนกู่ ไม่แหบแห้ง ไม่พร่า สั่นเครือ ไม่ติดอ่าง เสียจังหวะ  กระแสเสียงมีเสน่ห์ชวนฟัง
8.ลูกเล่น
ออเซาะ ฉอเลาะ หยิกหยอก ปลอบโยน งอนง้อ  ตัดพ้อ หยิ่งทะนง ประชดประชัน นกที่มีอันดับจะให้เสียง สูง ต่ำ หนัก เบา แผ่ว กระซิบ ได้อารมณ์ดี หูของหมอนกฟังรู้ ถือว่าเป็นลูกเล่นพิเศษ
เมื่อมีการประชันขันแข่งจะมีเกณฑ์สำหรับการพิจารณาดังนี้
1.คารม                 พิจารณาให้ความสำคัญ    70 %
2.เสียง                          พิจารณาให้ความสำคัญ    15 %
3.ขันทน              พิจารณาให้ความสำคัญ   15 %
บางครั้งการประกวดประชันอาจมีคะแนนในเรื่องของรูปร่าง  ลักษณะสีขน  ปาก  เล็บ  สร้อยคอ เข้ามาด้วย ซึ่งเป็นอีกลักษณะหนึ่งของความสวยงามของนกเขาคารม หากมีการประชันขันแข่ง  เกณฑ์การให้คะแนนนั้นอยู่ที่ประสบการณของผู้ตัดสินที่มีความแม่นยำในการฟังเสียงโดยสามารถแยกเสียงต่าง ๆ ได้ชัดเจน  เวลาประชันขันแข่งนั้น  นกที่เข้าประกวดที่ขันไม่ทน จะไม่มีคะแนน แต่นกที่เปล่งเสียงขันที่ทน เร่งขันเร็ว ชัดเจน เป็นจังหวะ ก็จะได้คะแนนมาก
จากอดีตที่ผ่านมาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมาได้จัดประกวดนกเขาคารม ในงาน ย้อนยุคโคราช ด๊ะดาดของดีเมื่อวันที่ 10 -12 ธันวาคม 2542 ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา มีผู้เข้าร่วมประกวดนกเขาคารมเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงความอนุรักษ์และการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นในเรื่องของสัตว์พื้นบ้านได้เป็นอย่างดี  ดังนั้นหากผู้ที่ยังไม่มีความรู้ความสามารถในการแยกแยะเสียงของนกเขาคารมของคนโคราชตามชี้แจงอย่างชัดเจนมาแล้วข้างต้น  ลองหานกเขาคารมเสียงดี ๆ มาเลี้ยงสักตัว สองตัวก็เพลิดเพลินดี  เพราะปัจจุบันมีหมอนกที่คอยสรรหาและจับนกเขาใหญ่มาเลี้ยง  โดยวิธีการต่อนก ซึ่งจากการสัมภาษณ์ คุณพ่อประจวบ สว่างพลกรัง อายุ 74 ปี อยู่บ้านเลขที่ 632 หมู่ 4 ต. แชะ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา และคุณพ่อแสวง จอมเกษม อายุ 75 ปี อยู่บ้านเลขที่ 22 หมู่ 8 ต .แชะ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ทุกวันจะถือเพนียด (ที่จับนก) ถุงตะเคียว (สำหรับใส่นกที่จับได้) มีดขัด (สำหรับตัดแต่งกิ่งไม้และใช้สอย) เข้าป่าไปต่อนก ซึ่งคุณพ่อแสวงและคุณพ่อประจวบเล่าว่า การต่อนกเขานั้น ต้องมีนกต่อ ที่ได้คัดสรรแล้วว่าเป็นนกที่สามารถขันเรียกนกตัวอื่น ๆ ให้บินมาอยู่ใกล้ชิดและขันต่อล้อต่อเสียงกัน ซึ่งหมอนกทั้งสองท่านเล่าว่า  น่าตื่นเต้นมาก  เวลา ที่มีนกอื่นมาขันใกล้ ๆ แล้วลุ้นว่าเพนียดจะทำงานเมื่อใด ก็จะได้นกเขาที่มีเสียงดีมาเลี้ยงไว้  เมื่อได้นกเขาใหญ่ตามที่ต้องการแล้วจะนำมาเลี้ยงและฝึกขัน โดยมีนกที่เสียงดีอยู่ด้วยกันขันแข่งกันทุกวัน  นกที่จับได้หากมีเสียงดีและมีลักษณะพิเศษตามที่ต้องการตามความนิยมคุณพ่อก็จะขายต่อราคาประมาณ 50 บาทขึ้นไป แต่หากสนิทสนมกันก็ให้กันไปเลยโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ เพราะต้องการเพียงเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน มิได้เพื่อการค้าหรือธุรกิจที่นำพาความร่ำรวยมาสู่ตน  ก่อนจากกันคุณพ่อประจวบ  สว่างพลกรังได้ให้เกร็ดความรู้เล็ก ๆ มาฝากกันอีกด้วยในเรื่องของนกกระทาเมียรัก  (เป็นนกกระทาป่าไม่ใช่นกกระทาเลี้ยง) บางครั้งเมื่อไปต่อนกแล้วบางทีได้นกกระทามาจะไม่นิยมเลี้ยงหากนกมีคุณลักษณะที่ผิดโฉลก 4 ประการ คือ
1. ก้นลาย                                  2. สะพายขาด
3. ขัน 2 ตาด                              4. เดือยปักกะบาน
มีอย่างหนึ่งอย่างใดห้ามเลี้ยง  แต่ถ้ามีครบทั้ง 4 ประการจะเรียกว่า ปัดตลอด ถือว่าเป็นนกมงคล หายากใครเลี้ยงไว้ก็จะพาความเจริญรุ่งเรือง ความร่ำรวยและเป็นศิริมงคลแก่ผู้เลี้ยงเป็นอย่างยิ่ง
จากการสัมภาษณ์ ปราชญ์พื้นบ้าน  28/พ.ค./2551
คุณพ่อประจวบ สว่างพลกรัง อายุ 74 ปี อยู่บ้านเลขที่ 632 หมู่ 4 ต. แชะ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา
คุณพ่อแสวง จอมเกษม อายุ 75 ปี อยู่บ้านเลขที่ 22 หมู่ 8 ต .แชะ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น